วันที่ 18 มิ.ย.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งผ่านการพิจารณาในชั้น สส. และคณะกรรมาธิการวิสามัญ วุฒิสภาพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีกลุ่ม LGBTQIAN และภาคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
โดยการประชุม นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ รายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ว่า ได้ศึกษา เปรียบเทียบร่างกฎหมายอย่างรอบคอบ ได้ตั้งประเด็นข้อสังเกตในชั้นกรรมาธิการ ได้พิจารณาดูรายชื่อกฎหมาย สิทธิ หน้าที่ของคำว่าสามีภรรยา นอกจากนี้ยังได้พิจารณาร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยร่างฉบับนี้มีทั้งสิ้น 69 มาตรา ไม่มีการแก้ไข ไม่มีกรรมาธิการสงวนความเห็น แต่มีการตั้งข้อสังเกตที่สำคัญมาก และมี สว. แปรญัตติ จำนวน 3 คน มีผู้สงวนคำแปรญัตติ 2 คน
จากนั้นเป็นการพิจารณารายมาตรา โดยมาตราที่ 2 ที่กำหนดให้กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน ซึ่งพลตำรวจโทศานิตย์ มหถาวร ไม่เห็นด้วยและขอแปรญัตติ ได้อภิปรายว่า เรามีการโต้เถียงกันมาตลอด ตนตั้งคำถามว่าทำไมถึงประกาศไม่ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไปหลังจากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และถ้าเราไปดูเนื้อใน ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำไปปฏิบัติ ในการร่างกฏหมายควรจะให้สภาหรือวุฒิสภาได้รับรู้ถึงกฎหมายลูกด้วย
“ท่านมักจะตีกินอยู่เรื่อย แล้วให้ออกเช็คเปล่าให้เขาไป ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรี เป็นไปตามที่อธิบดีไปออกประกาศกำหนด ไปออกระเบียบข้อบังคับ เขาไม่เคยให้พวกเราได้ดูเลยครับท่านประธาน ผมจึงอยากเรียกร้อง เชื้อเชิญ ขอความเห็นใจ เมตตาปราณีกับน้องๆที่เขารอกฎหมายฉบับนี้มานาน ขอให้มันเร็วกว่านี้ได้หรือไม่ ถ้าได้จะเป็นอนุโมทนาหรือคุณูปการอย่างสูงเลยครับ” พลตำรวจโทศานิตย์ กล่าว
ขณะที่นายจิตรพรต พัฒนสิน กรรมาธิการ ชี้แจงว่า การกำหนดวันใช้บังคับของกฎหมาย บางบริบทขึ้นอยู่กับกฎหมายรอง การเตรียมการของหน่วยงานราชการส่วนต่างๆ เพื่อรองรับการบังคับใช้ของกฎหมาย จริงอยู่ที่กฎหมายนี้ไม่มีกฎหมายรอง แต่ในทางปฏิบัติ เช่น การจดทะเบียนครอบครัว ก็มีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงได้มีการปรับแก้จากให้บังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นเวลา 120 วัน
พลตำรวจโทศานิตย์ ลุกขึ้นกล่าวต่อว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เปลี่ยนแค่ถ้อยคำเท่านั้น ตนรู้สึกอึดอัดใจกับคำตอบของผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องที่สามารถพิสูจน์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้เลย
“ไปถามคนนั้นมา คนนี้มา ผมก็ถาม ไม่รู้ว่าไปถามคนไหน ท่านก็อ้างไปเรื่อยหรือเปล่าไม่ทราบ ผมไม่ได้เจตนาให้ร้าย การที่จะเร็วกว่า 5 วัน เดือนหนึ่ง น่าจะเป็นคุณูประการต่อคนที่เขารอคอย ถ้าสัญญาว่าจะให้แล้วขอผลัดไปอีก 4 เดือน ท่านเมตตาได้หรือไม่ มันจะเป็นต้องศึกษาอะไรมากมาย ท่านไม่ต้องไปซักซ้อมทำความเข้าใจอะไรเลย ก็เรียนด้วยความเคารพว่ากฎหมายบ้านเรามันเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรเลย แล้วก็อ้างนู่นนี่นั่น” พลตำรวจโทศานิตย์ กล่าว
ทำให้นางสาวปิยฉัฏฐ์ วันเฉลิม กรรมาธิการ ลุกขึ้นชี้แจงว่า การประกาศใช้เร็วเป็นความต้องการของภาคประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ ฝั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐควรจะต้องมีความพร้อมด้วย นอกจากบุคลากรแล้วยังต้องมีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ด้วย ไม่ใช่แค่กระดาษที่จะพิมพ์ แต่รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ เพราะต้องมีระบบฐานข้อมูล กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีผลกระทบแค่กรุงเทพมหานครและกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นทั่วประเทศและทุกกระทรวง เรามองเรื่องความพร้อมสำคัญ ดังนั้นจึงมองว่า 120 วันนั้นเพียงพอ
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 130 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 18 เสียง จากนั้นรอประกาศในราชกิจจาบุเบกษา ประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเป็นประเทศที่ 38 ของโลก
#ข่าววันนี้่ #สมรสเท่าเทียม #อาเซียน #วุฒิสภา #สีรุ้ง