ปัจจุบันสถานการณ์ความรุนแรงเด็กในประเทศไทยเพิ่มขึ้น  จากข้อมูลชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (Thailand Internet Crimes Against Children - TICAC Task Force) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการรวบรวมของ มูลนิธิ Safeguardkids พบว่า เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาใน(2559 - ตุลาคม 2566)  เด็กและเยาวชนไทยถูกทำร้ายจากการละเมิดผ่านช่องทางออนไลน์ จนเป็นคดีความเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ตั้งแต่ปี 2565 โดยพบเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดสูงสุดในปีดังกล่าวถึง 476 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ราว 24 เท่า และหากคำนวณจากปี 2559 มีเด็กและเยาวชนไทยถูกล่วงละเมิดจนถึงเดือนตุลาคม 2566 เป็นคดีความแล้วทั้งสิ้น 1,192 คดี 

มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก (Safeguardkids Foundation) องค์กรไม่แสวงหากำไร หนึ่งในหน่วยงานพิทักษ์และต่อต้านการล่วงละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กในประเทศไทย ภายใต้ มูลนิธิเด็กโลก (World Childhood Foundation) ใน สมเด็จพระราชินีซิลเวีย เรนาเทอ ซอมแมร์ลัธ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน  จึงได้จัดงานประชุมสุดยอดการคุ้มครองเด็ก หรือ “Child Protection Summit, Bangkok 2024” เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี พร้อมด้วย สมเด็จพระราชินีซิลเวีย แห่งสวีเดน ทรงเป็นประธาน โดยมี คุณพอลล่า กิลเลต์ เดอ มองทูซ์ ผู้แทนมูลนิธิ World Childhood และคุณชเล วุทธานันท์ ประธานมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก เฝ้ารับเสด็จ 

โอกาสนี้ได้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เพื่อให้เด็กไทยได้รับการปกป้องจากอาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทุกวันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่ตลอด พม.ในวันนี้ โดย ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน(สนส.) รับเรื่องราวผ่านทางฮอตไลน์ 1300 มากมาย

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยกับ "สยามรัฐ" ถึงการปกป้องความรุนแรงในเด็กมีอยู่หลายมิติ  ในมิติ พม. เน้นที่เด็กโดยเฉพาะ เราทำงานภายใต้กรอบสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC)   ซึ่งเยียวยาผู้เสียหาย ทั้งสภาพจิตใจ ดูแลร่างกาย ดูแลความปลอดภัยทางกาย การพัฒนาการทางจิตใจ และป้องกันไม่ให้เด็กถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะทางออนไลน์ ออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดโดยกายภาพหรือใจโดยใช้วาจา ต่างๆเหล่านี้จะเป็นบริบทที่ทาง พม. ทำงานโดย นักจิตวิทยาของกระทรวง และนักสหวิชาชีพ เข้าไปเยียวยาจิตใจของเด็ก เพราะสภาพบาดเจ็บทางกายมองเห็นได้ แต่การเยียวยาบาดแผลที่อยู่ที่ใจ บางครั้งต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแกะเอาปมเหล่านั้นออกมา ส่วนการป้องกัน ในมิติของ พม.จะเป็นการสร้างการตระหนักรับรู้ว่ามีปัญหาได้อย่างไร ป้องกันได้อย่างไร แต่ในการปราบปรามนั้นเป็นการดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย

“เราดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทุกวันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอยู่ตลอด พม.ในวันนี้ โดย ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน(สนส.) รับเรื่องราวผ่านทางฮอตไลน์ 1300 มากมาย และต้องขอขอบคุณภาคเอกชนที่คอยส่งข่าวเข้ามาซึ่งเป็นการเพิ่มการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กถ้าหากไม่เร่งแก้ไข ปัญหาเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดจนถึงเขาเป็นผู้ใหญ่และเกิดความรุนแรงในสังคมต่อ ดังนั้นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม การเยียวยา การบำบัด ทางด้านจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือตัวผู้ถูกกระทำ เป็นสิ่งที่ พม.ให้ความสำคัญอย่างที่สุด โดย พม.ได้ทำต่อเนื่องร่วมกับสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวสุขภาพของเด็กโดยตรง รวมทั้ง ผู้เชี่ยวชาญ นักสหวิชาชีพต่างๆ”  

นายวราวุธ กล่าวถึงอุปสรรคในการดำเนินงานว่า  “บางครั้งเกิดเหตุแล้วเราไม่ทราบ บางทีเกิดเหตุแล้วไม่กล้าบอก หรือบางครั้งด้วยนิสัยถ้อยทีถ้อยอาศัย หรือจะเหมือนกับว่าธุระไม่ใช่ ดังนั้นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสำคัญคือ การได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ถ้าเห็นอะไรที่ไม่ถูกไม่ควร อย่ากลัวที่จะบอก เพราะเมื่อไม่ได้รับข่าวสารก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แทนที่จะแก้ปัญหาได้แต่เนิ่นๆ ก็จะพอกพูนขึ้นไปจนปัญหาแก้ยากมากขึ้น นั่นคือหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ อีกประเด็นคือเรามีเจ้าหน้าที่จำนวนจำกัด ดังนั้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็น อสม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ”