Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 36.79 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 36.82 บาทต่อดอลลาร์ 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในช่วง 36.77-36.85 บาทต่อดอลลาร์) แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังตลาดการเงินยุโรปเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่เงินบาทกลับไม่ได้แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เนื่องจากราคาทองคำก็มีจังหวะปรับตัวลดลง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงรอจังหวะดังกล่าวในการทยอยเข้าซื้อทองคำ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างยังคงกังวลต่อสถานการณ์การเมืองของไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีมุมมองเชิงลบต่อเงินบาทในระยะสั้นนี้ ส่วนนักลงทุนต่างชาติก็ยังไม่รีบกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทย

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Semiconductor อย่าง AVGO +5.4%, Qualcom +3.2% ตามความหวังว่า แนวโน้มผลประกอบการของหุ้นกลุ่มดังกล่าวจะเติบโตได้ดีตามกระแสการประยุกต์ใช้ AI ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +0.95% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.77%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นราว +0.09% ตามการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นฝรั่งเศสที่ปรับตัวลงหนักในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า จากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor เช่นเดียวกับฝั่งสหรัฐฯ อาทิ ASML +1.7%

ในส่วนตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว +5bps สู่ระดับ 4.27% หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อโอกาสที่เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ (ตลาดประเมินโอกาสดังกล่าวราว 78% จากที่เคยสูงเกือบ 100% ในวันก่อนหน้า) ตามรายงานดัชนีภาคการผลิตโดยเฟดสาขานิวยอร์ก (NY Empire State Manufacturing Index) ที่ออกมาสูงกว่าคาด ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเกือบ +3% อย่างไรก็ดี เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways แถวระดับ 4.25% ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม และ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดในระยะข้างหน้ามีเพียงแค่ “คง” หรือ “ลง” มากกว่าที่เฟดจะทยอยขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
 
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังสกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ต่างรีบาวด์ขึ้นบ้าง ตามการทยอยเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งยุโรป ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ก็ไม่ได้อ่อนค่าลงต่อเนื่องไปมาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงสู่ระดับ 105.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.2-105.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง ทว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็เป็นปัจจัยที่กดดันไม่ให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) ปรับตัวขึ้นต่อได้ชัดเจน และทำให้ราคาทองคำยังคงแกว่งตัวแถวโซน 2,330-2,340 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 
 
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม พร้อมทั้งรอติดตาม ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ 

ส่วนในฝั่งยุโรป ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน เดือนพฤษภาคม และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีและยูโรโซน ที่สำรวจโดย ZEW นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เช่นกัน

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% ไปก่อน จนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถชะลอตัวลงกลับสู่เป้าหมายได้สำเร็จ แม้ว่าปัจจุบัน ภาพเศรษฐกิจออสเตรเลียจะมีการชะลอลงตัวบ้างก็ตาม 

และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการพิจารณาคดีการเมืองสำคัญโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นและสร้างความผันผวนให้กับฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงตลาดการเงินไทยได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ควรระวังความเสี่ยงที่เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าลงต่อได้ ท่ามกลางความกังวลสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังจะเห็นได้จากแรงขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่องของบรรดานักลงทุนต่างชาติ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านแถว 36.85-36.90 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไป 37.00 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อย่างบรรดาผู้ส่งออก อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้โซนแนวต้านดังกล่าวได้ 

ส่วนการแข็งค่าในช่วงนี้ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะคลายกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศและสถานการณ์การเมืองฝั่งยุโรป ซึ่งจะช่วยให้เงินดอลลาร์สามารถอ่อนค่าลงได้ชัดเจนอีกครั้ง หากตลาดยังมั่นใจว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ ทำให้เงินบาทยังมีแนวรับแถวโซน 36.60-36.70 บาทต่อดอลลาร์ 

ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน (ช่วง 16.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ (ช่วง 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย) โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดจะสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้งในปีนี้ ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาทได้บ้าง แม้ว่าเงินบาทจะยังคงเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศก็ตาม

โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์

#ข่าววันนี้ #ค่าเงินบาท #ดอกเบี้ย #ตลาดเงินตลาดทุน #เงินเฟ้อ