แสดงเป็นตัวเลขออกมา พร้อมกับทุบสถิติอย่างน่าสะพรึง

สำหรับ จำนวนผู้อพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรโลก ในปี 2024 (พ.ศ. 2567)นี้ ซึ่งแม้เพิ่งผ่านพ้นมาได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น แต่ตัวเลขก็ทะยานจนกลายเป็นสถิติใหม่จนน่าเป็นห่วง

โดยตามรายงาน “โกลบอล เทรนด์ส (Global Trends)” ซึ่งว่าด้วยเรื่องแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ซึ่งจัดทำขึ้นโดย “สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็นเอชซีอาร์” อันเป็นโครงการๆ หนึ่งของสหประชาชาติ และเป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไรของสหประชาชาติ เปิดเผยถึงสถานการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพย้ายถิ่นฐานในรายงานข้างต้นฉบับล่าสุดว่า ตลอดช่วงปีนี้จนถึงเดือนพฤษภาคม ที่เพิ่งผ่านพ้นมานั้น ปรากฏว่า มีจำนวนมากถึง 120 ล้านคนจากประเทศต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคโลก ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานออกจากบ้านเรือนเดิมของตน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต้องกลายเป็นสถิติใหม่กันเลยทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปีที่แล้ว คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ประชากรโลกอพยพย้ายถิ่นฐานที่ตัวเลข 117.3 ล้านคน อันเป็นตัวเลขของเมื่อช่วงสิ้นปีของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ จำนวนตัวเลข 120 ล้านคนที่ระบุไว้ ก็ถือเป็นจำนวนร้อยละ 1.5 ของประชากรโลกทั้งหมดเลยทีเดียวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุปัจจัยต่างๆ จนทำให้ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตน ด้วยการอพยพย้ายไปในที่ใหม่

ส่วนเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้คนต้องยอมทิ้งบ้านช่องถิ่นฐานเดิมของตน อพยพไปยังถิ่นที่อยู่ใหม่ของตนนั้น ก็แตกต่างออกไปจากปีที่ผ่านๆ มาด้วย

โดยในช่วงปีที่ผ่านๆ มา นอกเหนือจากปัญหาความขัดแย้ง ที่รุนแรงถึงขั้นก่อสงครามเข้าห้ำหั่นกันเองของมนุษยชาติเราแล้ว ก็ยังมีปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เข้ามาผสมปนเป จนทำให้ผู้คนไม่อาจพำนักในถิ่นที่อยู่เดิมได้

ตามตัวเลขที่ปรากฏออกมา ก็ระบุว่า เหตุปัจจัยจากปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้คนกว่า 8 ล้านคนทั่วโลก ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากบ้านเรือนเดิมของตน หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวที่เผชิญปัญหานี้

ทว่า แตกต่างจากเหตุปัจจัยหลักสำคัญในปี 2567 นี้ ที่ปรากฏว่า หลักใหญ่ใจความมาจากการหนีภัยของการสงครามสู้รบ เป็นสาเหตุสำคัญ ยิ่งกว่าเหตุปัจจัยอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า การอพยพของผู้คนชาวโลกในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นเพระเหตุปัจจัยจากเรื่องสงครามการสู้รบเป็นสาเหตุหลัก ซึ่งยังไม่ถึงช่วงเวลาของฤดูมรสุมอันเลวร้าย ที่ก่อเหตุภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น อุทกภัย และวาตภัย เป็นต้น รวมถึงการเกิด หรือฤดูไฟป่า ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภูมิภาคที่อยู่ทางตอนเหนือของขั้วโลก เช่น ยุโรป และอเมริกาเหนือ เป็นต้น โดยเมื่อถึงช่วงฤดูกาลอันเลวร้ายเมื่อไหร่ ก็อาจทำให้เหตุปัจจัยที่จะทำให้ผู้คนต้องอพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนเดิมของเปลี่ยนแปลงจากที่รายงาน “โกลบอล เทรนด์ส” ตามที่ “ยูเอ็นเอชซีอาร์” ระบุไว้ในข้างต้นก็เป็นได้

โดยเหตุปัจจัยทั้งจากปัญหาสงครามการสู้รบ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน ที่ลุกลามบานปลายกลายเป็น “ภาวะโลกเดือด” ไปแล้ว ก็คงจะผสมผเสปนเปซ้ำเติมสถานการณ์การอพยพของประชากรโลกที่เลวร้ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้ทวีความเลวร้ายรุนแรงหนักขึ้นไปอีกได้

อย่างไรก็ดี แม้ตัวเลขผู้อพยพที่ 120 ล้านคน ก็สร้างความวิตกกังวลให้แก่ “ยูเอ็นเอชซีอาร์” เป็นอย่างมากแล้ว โดยทาง “ยูเอ็นเอชซีอาร์” ระบุว่า เป็นตัวเลขที่มากกว่าตัวเลขผู้อพยพของเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้อพยพของเมื่อสองปีที่แล้ว ก็สร้างความวิตกกังวลให้แก่ยูเอ็นเอชซีอาร์เป็นอย่างมากมาแล้วเช่นกัน โดยในปีดังกล่าวนั้น เป็นปีที่เกิด “สงครามรัสเซีย – ยูเครน” ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 อันก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพครั้งใหญ่ในภูมิภาคยุโรป จากการที่ประชาชนชาวยูเครน ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนของตนในยูเครน อพยพไปในประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก เช่น เยอรมนี และฝรั่งเศส เป็นต้น รวมไปจนถึงสองประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ นั่นคือ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ สถานการณ์ผู้อพยพของเมื่อปีที่แล้ว คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ปรากฏว่า ตัวเลขมาเพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงปลายปี ภายหลังจากเกิดสงครามการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ของปาเลสไตน์ ในพื้นที่ฉนวนกาซา ซึ่งสงครามการสู้รบ ได้เริ่มดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา นั่นเอง

โดยสงครามการสู้บในพื้นที่ฉนวนกาซาข้างต้น ก็ยังได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดคลื่นผู้อพยพยย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนของประชากรทวีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามมาถึงในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ด้วย เพราะทั้งกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ของปาเลสไตน์ ยังคงสู้รบลากยาวมาถึง ณ วินาทีนี้

ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา อพยพออกจากบ้านเรือน เพื่อหนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาส และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ของปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา (Photo : AFP)

ทั้งนี้ ฉากสงครามการสู้รบในฉนวนกาซา ได้ลุกลามจากพื้นที่ตอนเหนือ ลงมาสู่ตอนกลาง และบานปลายมาถึงตอนใต้ของฉนวนกาซา อย่างในเมืองราฟาห์ ที่กลายเป็นสมรภูมิรบของทั้งสองฝ่าย ณ ปัจจุบัน ซึ่งจากการสู้รบกันในลักษณะ ได้ก่อเหตุให้เกิดการอพยพของผู้คนแบบซ้ำแล้วซ้ำอีกภายในพื้นที่ฉนวนกาซา คือ จากทางตอนเหนือ ลงมาสู่ตอนกลาง และตอนใต้ ณ ขณะนี้ จนประชิดติดพรมแดนกับอียิปต์ ซึ่งหากการสู้รบยังดำเนินต่อไป ก็คาดว่า บรรดาผู้อพยพชาวปาเลสไตน์เหล่านี้ ก็คงจะต้องข้ามพรมแดนเข้าไปลี้ภัยยังประเทศอียิปต์

เช่นเดียวกับสถานการณ์การสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ณ ปัจจุบัน กองทัพรัสเซียก็ยังคงเปิดฉากโจมตียูเครน กันอย่างต่อเนื่อง โดยรุกคืบจากภูมิภาคตะวันออกของยูเครน เช่น แคว้นโดเนตสก์ เป็นต้น ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งที่อยู่ทางเหนือ เช่น คาร์คีฟ และมุ่งหน้าทางตะวันตก อย่าง กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน เป็นต้น ส่งผลให้สถานการณ์อพยพหนีภัยสงครามเลวร้ายยิ่งขึ้นไปด้วย

ประชาชนชาวเมียนมา ต้องมาพำนักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวแห่งหนึ่ง เพื่อหนีภัยการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆ (Photo : AFP)

นอกจากสงครามการสู้รบจากสองสมรภูมิข้างต้นแล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยความขัดแย้งในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ที่เมียนมา ก็นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ก่อให้เกิดคลื่นอพยพของผู้คนที่ค่อนข้างสูง