รองผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดโครงการพัฒนา 72 สายน้ำอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติ ร.10 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  28 กรกฎาคม 2567
   

วันที่ 17  มิถุนายน 2567 ที่บริเวณโครงการแก้มลิงหนองบัว ทุ่งหนองเสนง สีไคล บ้านผักขะ ตำบลลิ้นฟ้า  อำเภอยางชุมน้อย  จังหวัดศรีสะเกษ  นายอนุรัตน์  ธรรมประจำจิต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนา 72 สายน้ำอย่างยั่งยืน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  28 กรกฎาคม 2567  โดยมีนายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ  และนายสฤษดิ์ รัตนวงษ์ นายอำเภอยางชุมน้อย นำหัวหน้าส่วนราชการ 4 กระทรวงหลักกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดศรีสะเกษร่วมบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ตำบลลิ้นฟ้า  จำนวนกว่า 500 คน  เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ 
     

นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ  กล่าวว่า โครงการแก้มลิงหนองบัว ทุ่งหนองเสนง สีไคล อันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งนี้ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ พระบาทสมเด็จพระปรนทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชดำริ  เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 โดยมีพื้นที่ดำเนินการประมาณ 3 พันไร่ ซึ่งโครงการชลประทานศรีสะเกษเป็นผู้รับผิดชอบในโครงการนี้โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 8 ระยะ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วในระยะที่ 1-5 คงเหลืออีก  3 ระยะ ที่โครงการชลประทานศรีสะเกษกำลังดำเนินการให้แล้วเสร็จและในปีงบประมาณ 2567 โครงการชลประทานศรีสะเกษได้รับงบประมาณงานป้องกันการกัดเซาะทำนบดิน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากโครงการขุดลอกที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และเมื่อดำเนินการได้ครบทุกระยะแล้วจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 5.50 ล้าน ลบ.ม. จะช่วยบรรเทาภัยจากน้ำให้กับราษฎร ทั้งน้ำท่วม และภัยแล้งได้เป็นอย่างมาก  ซึ่งโครงการนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน 4 กระทรวง โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก และบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทยกระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ ประกอบด้วย กิจกรรม กำจัดวัชพืช กิจกรรมปลูกหญ้าแฝกป้องกันการกัดเซาะ และกิจกรรมปล่อยปลา รวมทั้งการปลูกตันไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน และเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศรวม 24 แห่ง  นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพบว่า ราษฎรตลอดจนผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่นี้ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยมีเป้าหมายคือสืบสาน รักษา และต่อยอดในการขยายผลใน 10 กลุ่มกิจกรรม ประกอบด้วย  งานพัฒนาการประมง   งานพัฒนาด้านข้าว  งานพัฒนาด้านป่าไม้  งานวิชาการและส่งเสริมสหกรณ์  งานพัฒนาที่ดิน  งานพัฒนาด้านปศุสัตว์  งานพัฒนาด้านแหล่งน้ำและระบบชลประทาน  งานด้านหม่อมไหม  งานส่งเสริมสหกรณ์  และงานส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ