พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร. สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าวเมือง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักของ สตม. โดยสั่งการและกำชับให้เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบบังคับใช้กฎหมาย โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวนเน้นบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1, พ.ต.อ.กีรติศักดิ์ ก้องเกียรติศิริ รอง ผบก.ฯ ปรก.บก.ตม.1, พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 จึงได้สั่งการให้ชุดสืบสวน นำโดย พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ลงพื้นที่สืบสวนหาข่าวเพื่อป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ตามแหล่งที่ชุมนุมรวมตัวของคนต่างด้าว
พ.ต.ท.สุริยะ พ่วงสมบัติ รอง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 ตรวจสอบตามศาสนสถาน คริสตจักร ที่เป็นแหล่งชุมนุมของคนต่างด้าวหลายแห่ง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพบผู้ต้องสงสัย มีท่าทีพิรุธเมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่ จึงเข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ขอตรวจสอบเอกสารหนังสือเดินทางในเบื้องต้นผู้ต้องสงสัยไม่ยอมแสดงเอกสาร แต่ได้แจ้งชื่อและวันเดือนปีเกิด ตรวจสอบจากฐานข้อมูลพบว่า ผู้ต้องสงสัยชื่อ MS.MARRY อายุ 42 ปี สัญชาติฟิลิปปินส์ เดินทางเข้าออกราชอาณาจักรมาแล้ว 26 ครั้ง ครั้งล่าสุดเดินทางเข้ามาเมื่อช่วงต้นปี 2563 ได้รับการตรวจลงตราด้วยวีซ่าประเภทผ่อนผัน 30 วัน เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2563 อนุญาตถึง 31 มี.ค.2563 หลังจากนั้นไม่พบว่ามีการยื่นคำร้องขออยู่ต่อในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปอีกการอนุญาตสิ้นสุดลงแล้วกว่า 4 ปี
จากการสืบสวนสอบสวน ได้ข้อมูลว่า MS.MARRY ไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง แต่เคยรับจ้างดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ และจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียด ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหา "เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด“ แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับให้ทราบ จากนั้นนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อดำเนินคดีและส่งตัวกลับประเทศต้นทางต่อไป
พ.ต.ท.สุริยะฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ”บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตนอีกด้วย“
อนึ่ง สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี
หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระชนมพรรษา 60 พรรษา เลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือติดต่อตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดในพื้นที่ หรือที่ หมายเลข 1178 จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง