วันที่ 16 มิ.ย.67 ที่ บก.สส.บช น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น., พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม  รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง , พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี , พ.ต.อ.เกียรติศักดิ์ สระทองออย รอง ผบก สส.บช.น. , พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฎศรี , พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. พ.ต.ต.ทศรัสมิ์ กิติธารา สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ , ร.ต.อ.ธนพล มโนษร , ร.ต.อ.ปฏิภาน ไกรลาศฉิมพลี รองสว.กก.วิเคราะห์ข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ สืบนครบาล ร่วมกันจับกุม นางสาวกฤษณา นางสาวนภัสสร ลิขิตสกุลชัย อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 140 ถนนเทศบาล 38 ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมของกลาง 

โดยกล่าวหาว่า  ร่วมกันเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ และ  ร่วมกันเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขาย ให้เช่า ให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (เป็นธุระจัดหา จำหน่าย ซิมม้า,บัญชีม้า) โดยจับกุมได้ที่ บริเวณถนนสาธารณะ ซอยอรรถกระวี แขวง คลองตัน เขต  คลองเตย กรุงเทพมหานคร

สืบเนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ได้สืบทราบว่ามีผู้ลักลอบจำหน่ายซิมโทรศัพท์ที่ได้ลงทะเบียนแล้วโดยบุคคลอื่นพร้อมใช้ และบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 จึงได้ให้สายลับทำการติดต่อล่อซื้อพูดคุยกันผ่านข้อความแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค โดยผู้ลักลอบจำหน่ายได้นัดหมายกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 22.00 น. โดยได้ตกลงต่อรองกันจนได้ตกลงซื้อขายซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เครือข่าย เอไอเอส ที่ลงทะเบียนพร้อมใช้งานแล้ว จำนวน 500 ซิม ในราคา 55,000 บาท และ สมุดบัญชี พร้อมบัตรเอทีเอ็มและซิมซึ่งผูกบัญชี จำนวน 2 บัญชี ในราคา 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 75,000 บาท 

โดยผู้ลักลอบจำหน่ายได้นัดหมายเบื้องต้นที่ บริเวณหลังห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี สาขาพระราม 4 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร แต่เมื่อถึงเวลาปรากฏว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊คดังกล่าวยังไม่มาตามนัด และได้แจ้งว่าโทรศัพท์แบตจะหมด ให้ติดต่อกันผ่าน ข้อความแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊ค จนต่อมา ในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 เวลาประมาณ 01.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ซึ่งได้เฝ้าจุดสังเกตการณ์ อยู่ บริเวณภายในซอยอรรถกระวี แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ผู้ลักลอบจำหน่ายได้แจ้งว่ากำลังจะมาถึงได้สอบถามว่าให้ไปที่จุดไหน จึงได้แจ้งว่าเป็นหน้าร้านแห่งหนึ่ง แล้วจึงได้มีรถยนต์สีดำขับขี่มาจอดบริเวณที่นัดหมาย และมี นางสาวกฤษณา ผู้ต้องหาที่ 1 (ทราบชื่อภายหลัง) ลงมาจากรถและ นางสาวนภัสสร ผู้ต้องหาที่ 2 (ทราบชื่อภายหลัง) ซึ่งเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊คที่ติดต่อกัน นั่งคอยอยู่บนรถ โดยผู้ต้องหาที่ 1 ถือกล่องลังกระดาษลังมาพบกับสายลับ  สายลับจึงได้ทำการเปิดตรวจสอบพบว่าภายในกล่องดังกล่าวมีซิมจำนวน 500 ซิม และ สมุดบัญชีพร้อมบัตรเอทีเอ็ม และซิมซึ่งผูกกับบัญชีดังกล่าว จำนวน 2 ชุด จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมซึ่งเฝ้าจุดสังเกตการณ์อยู่ จึงได้เข้าไปแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหาที่ 1 และเรียกผู้ต้องหาที่ 2 ลงมาจากรถ แจ้งว่าทั้งสองจะต้องถูกจับกุม โดย ผู้ต้องหาทั้งสอง ยอมรับว่าซิมทั้งหมด และ สมุดบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม และซิมซึ่งลงทะเบียนผูกบัญชี จำนวน 2 ชุด ดังกล่าวทั้งหมดเป็นของตนเองจริง กำลังจะนำมาให้กับผู้ติดต่อซื้อ 

ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาทั้งสอง ได้ทราบถึงพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง สิทธิและข้อกล่าวหา ตามที่เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แจ้งให้ทราบดีโดยตลอดแล้วและได้ให้การ รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยจากการสอบถาม ทราบว่า ทั้งคู่ได้เคยไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน   ผู้ต้องหาที่ 1 ไปอยู่มา 2 ปี แล้วหนีกลับมา ผันตัวมาขายซิมโทรศัพท์ ส่วนผู้ต้องหาที่ 2  ตามเก๋ไปภายหลังแต่อยู่ได้ไม่ถึงเดือนไม่โอเคจึงได้กลับมา นำตัวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ พร้อมของกลาง  เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.ธีรเดช ฝากประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า)และเปิดซิมโทรศัพท์มือถือเพื่อไปใช้ในการกระทำผิด แลกกับค่าจ้างเพียงไม่กี่บาท ซึ่งคนร้าย จะนำซิมการ์ดที่ได้ ไปใช้ในการกระทำความผิด เช่น ใช้โทรศัพท์ไปหลอกลวงเหยื่อ, ใช้ประกอบการเปิดระบบธนาคารออนไลน์หรือเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรอรับเงินโอนจากการหลอกลวงเหยื่อหรือรับโอนเงินที่ได้จากการกระทำความผิด, ใช้ผูกกับบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วนำไปใช้กระทำความผิด ซึ่งตามกฎหมายนั้น ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (คนเปิดบัญชีม้า) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ (คนเปิดซิมม้า) สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน ทั้งนี้ โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.