วันที่ 16 มิ.ย.67 นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นต่อความพยายามของบางฝ่าย ในการนำกัญชา กลับไปเป็นยาเสพติดว่า ท่านอาจจะหลงลืมบางข้อมูลที่สำคัญไป ท่านรู้หรือไม่ว่า กัญชา เป็นตัวช่วยให้คนเลิกยาเสพติดได้ ถ้านำกัญชากลับเป็นยาเสพติดแล้ว เราอาจจะเปิดให้ยาเสพติด ระบาดยิ่งกว่าเดิม ทั้งยาบ้า ทั้งเฮโรอีน ซึ่งเริ่มกลับมาแล้ว ในขณะเดียวกัน เราได้ตัดตัวช่วยที่สำคัญอย่างกัญชาทิ้งไป
สืบข้อมูล ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มประชุมขับเคลื่อนผลักดัน “กัญชา” เพื่อลดปัญหา “ยาบ้า” อาจนำไปสู่การได้มาซึ่งการคืนกลับมาสู่สังคมของผู้ที่ติดยาบ้า หรือยาเสพติดที่ร้ายแรงได้ เป็นไปตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 (UNGASS 2016) โดยประเทศไทยในฐานะภาคีจะต้องกำหนดให้มีมาตรการทางเลือกกับผู้เสพยาเสพติด เพื่อผู้เสพเข้าสู่การบำบัดรักษา เช่น การนำมาตรการลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction)รวมถึงการพัฒนาทางเลือก (Alternative Development) มาปรับใช้เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นไปอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้งานวิจัยพบความจริงว่า“กัญชา”เป็นสมุนไพรที่ทำให้เกิดการเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[6] และมีความน่าจะเป็นในการติดกัญชาอยู่เพียงระดับ “กาแฟ”เท่านั้น ในขณะที่สำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) ได้รายงานว่าในปี 2563 มีประชากรในโลกที่อายุ 15-64 ปีมีผู้ใช้สารเสพติดมากถึง 284 ล้านคน แบ่งเป็นการใช้กัญชามากถึง 209 ล้านคน(ร้อยละ 73.59), รองลงมาอันดับที่สองคือกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ 61 ล้านคน (ร้อยละ 21.48), ยาบ้า 34 ล้านคน (ร้อยละ 11.97), โคเคน 21 ล้านคน(ร้อยละ 7.39) และยาอีประมาณ 20 ล้านคน (ร้อยละ 7.04) จากกลุ่มผู้ใช้ยาทั้งหมด มีสาเหตุการเสียชีวิตสูงที่สุดในโลกกลับเป็นยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77, ยาบ้ามีสัดส่วนร้อยละ 7, โคเคนมีสัดส่วนร้อยละ 4, กัญชามีสัดส่วนร้อยละ 4
โดยหากพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรที่ใช้สารเสพติด กับ จำนวนการตายอันเนื่องมาจากยาเสพติดนั้น ย่อมเห็นสัดส่วนได้อ่างชัดเจนว่า ในขณะที่กัญชามีผู้ใช้มากที่สุดถึง 209 ล้านคน (ร้อยละ 73.59) แต่กลับมีสัดส่วนอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าทั้งโอปิออยด์ ยาบ้า และโคเคน ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า “กัญชา” อันตรายน้อยกว่ายาเสพติดที่รุนแรงเหล่านี้อย่างชัดเจน
นอกจากนั้นกัญชายังมีบทบาทในฐานะเป็นสมุนไพรที่ช่วยทดแทนเพื่อลดอันตรายจากยาเสพติดที่รุนแรง (Harm Reduction) อีกด้วย โดยกัญชาได้ถูกนำมาเริ่มต้นนำมาใช้สารสกัดแคนนาบิไดออลทั้งในกัญชาหรือกัญชง เพื่อลดการติดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ รวมทั้งเฮโรอีน รวมทั้งการใช้กัญชาเพื่อลดการติดโคเคนในแคนนาดาอีกด้วย
โดยวารสารเกี่ยวกับการลดความรุนแรงจากยาเสพติดโดยตรงที่เรียกว่า Harm Reduction Journal ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2562 นั้น คณะวิจัยชาวแคนนาดาได้ทำการสำรวจประชากรชายและหญิงประมาณ 3,110 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี โดยเป็นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิต 1,700 คน หรือประมาณร้อยละ 83.7 และพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อแทนใบสั่งยา เพื่อลดยากลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ เพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดบุหรี่ และทดแนยาเสพติดอื่นๆ โดยงานวิจัยมีความเห็นแนะนำว่าการเพิ่มขึ้นในการเข้าถึงกัญชาทั้งทางการแพทย์และนันทนาการอย่างมีการควบคุมให้เหมาะสม สามารถส่งผลทำให้ลดความรุนแรงจาก โอปิออยด์, แอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดอื่นๆได้ [11]
ต่อมาผลการศึกษาวารสารสาธารณสุขของอเมริกัน ชื่อ American Journal of Public Health (AJPH) ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ในการศึกษาที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดาระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559-2561 พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ที่ใช้กัญชานั้นเพื่อลดยาที่อันตรายหรือรุนแรงอย่างอื่นที่เรียกว่า “Harm Reduction” (เช่น เฮโรอิน, ฝิ่น, โคเคน, ยาบ้า, หรือแอลกอฮอล์) และพบเหตุผลที่มากที่สุดคือใช้กัญชาเพื่อทดแทนยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทถึงร้อยละ 50 และการทดแทนกลุ่มฝิ่นหรือโอปิออยด์ที่ผิดกฎหมายอีกร้อยละ 31
หัวหน้าคณะวิจัยชาวแคนนาดาคนเดียวกันนี้ ได้วิจัยต่อเนื่อง และ ได้ทำงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารกัญชาและสารสกัดจากกัญชาในปีต่อมาชื่อ Cannabis and Cannabinoid Research เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เป็นการศึกษาเรื่องกัญชาแบบไปข้างหน้า (Cohort Study) ในการเฝ้าสังเกตการณ์กลุ่มประชากร 5,706 คน พบว่าการใช้กัญชาได้ประสบความสำเร็จในการทดแทนกลุ่มประชากรที่ใช้ยาเสพติดที่รุนแรง โดยเฉพาะยาบ้า (Metamphetamine) และทำให้ต้องมองกัญชาเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่จะนำมาใช้เพื่อลดปัญหาผู้ที่ใช้ยาเสพติดได้มากขึ้น
“ดังนั้นผู้ที่ใช้กัญชาเพิ่มขึ้นอาจเป็นกลุ่มที่กำลังลดความรุนแรงของยาเสพติดที่รุนแรงหลายชนิด รวมถึงการลดพฤติกรรมความรุนแรงของยาเสพติดชนิดอื่น รวมถึงการลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ที่เป็นปัญหาการเสียชีวิตของคนทั้งโลกมากขึ้นด้วย ซึ่งหากมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาจะต้องไม่สำรวจเพียงว่ามีประชากรใช้กัญชาเพิ่มมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวหรือไม่ แต่ควรต้องสำรวจลึกไปกว่านั้นว่าคนที่ใช้กัญชานั้นเป็นไปเพื่อการลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงหรือไม่ด้วย”