เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.67  นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า

หมดยุคดอลลาร์??

การพยากรณ์ (บางคนถึงกับแช่ง) ความตกตํ่าของสกุลเงินดอลลาร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายปี

หากอเมริกาเป็นประเทศทั่วไป การพยากรณ์คงจะแม่นยำมากกว่าที่ผ่านมา อเมริกาขาดดุลงบประมาณมหาศาล ทำให้ทั้งหนี้สาธารณะ และภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนโยบาย QE และความพยายามของคู่แข่งอเมริกาในยุคภูมิรัฐศาสตร์ตึงเครียด ที่จะลดการพึ่งพาการใช้ดอลลาร์ ทั้งในแง่การค้าและการถือทุนสำรอง

แต่รายงาน Financial Times ชี้ให้เห็นว่าแม้สัดส่วนทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์ลดลงจริง (65% ในปี 2016 เหลือ 58% ในปี 2024) แต่จริงๆแล้วสัดส่วนเพิ่มขึ้น ใน 31 จาก 55 ประเทศที่มีข้อมูล และลดลงในเพียง 4 ประเทศ คือจีน อินเดีย รัสเซีย และตรุกี ซึ่งส่วนใหญ่สัดส่วนที่ลดลงไม่ได้เพราะสกุลเงินอื่นมีความนิยมเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะสัดส่วนการถือทองคำเพิ่มขึ้น

หลายประเทศกำลังเพิ่มการถือดอลลาร์ เพราะอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สูงและเศรษฐกิจอเมริกายังแข็งแรง

บ้านผมเองก็เพิ่มสัดส่วนเงินฝากของเราในบัญชีดอลลาร์ ดอกเบี้ยฝาก 6 เดือน 5.2% เทียบกับ 1.2% ในบัญชีเงินฝากไทย ซึ่งแน่นอนความเสี่ยงอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยน แต่ 6 เดือนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งกว่าบาทถึง 7% จึงมีกำไรสองเด้ง

อนาคตมีความไม่แน่นอน แต่ยุโรปเริ่มลดดอกเบี้ยในขณะที่เศรษฐกิจที่ร้อนแรงของอเมริกาทำให้ดอกเบี้ยอเมริกายังสูงอยู่ ความนิยมสกุลเงินหยวนยังไม่กระเตื้อง เพราะความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และความกังวลต่อความโปร่งใสในกลไกตลาดค้าเงินหยวน

ส่วนเงินบาทนั้นผมมองว่ายังอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ขาดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น และโครงสร้างดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต หลายคนมองว่าบาทควร ‘ต้องอ่อนลง‘ ด้วยซ้ำเศรษฐกิจไทยถึงจะฟื้นได้

ดังนั้นโดยรวม ผมมองว่าสักวันหนึ่งคงหมดยุคดอลลาร์..แต่ยังไม่ใช่วันนี้หรือเร็วๆนี้