เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 มิถุนายน นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรมพร้อม ส.ส เขต จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) ประกอบด้วย เขต 8 นายนิกร โสมกลาง เขต 10 นายอภิชา เลิศพชรกมล เขต 11 นายอาทิตย์ หวังศุภกิจโกศล เขต 13 นายพชร จันทรรวงทอง เขต 14 นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ และเขต 15 นายรชตะ ด่านกุล ลงพื้นที่ตรวจราชการแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์คูเมืองด้านตะวันออก ถนนอัษฎางค์ตัดถนนพลล้าน เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา โดยมีนางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) นครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา บรรยายสรุปว่า วันที่ 10 มิ.ย ที่ผ่านมา นักโบราณคดีได้เก็บกู้โครงกระดูกและหลักฐานทางโบราณคดีที่พบร่วมจากหลุมขุดตรวจมาเก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการ สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง โดยทำความสะอาดหลักฐานทางโบราณคดีก่อนนำส่งตัวอย่างหลักฐานไปวิเคราะห์ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ดังนี้
1.โครงกระดูกมนุษย์ วิเคราะห์ เพศ ส่วนสูง อายุเมื่อเสียชีวิตและรอยโรคที่ปรากฏบนกระดูก เพื่ออธิบายสภาพร่างกายขณะมีชีวิตอยู่และจัดส่งตัวอย่างกระดูกและอินทรียวัตถุที่พบร่วมกับโครงกระดูกไปกำหนดอายุสมัยด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. หลักฐานทางโบราณคดี ประเภท เครื่องประดับทองคำ เครื่องมือเหล็กและลูกปัดแก้ววิเคราะห์องค์ประกอบธาตุ ด้วยวิธี XRF จากกลุ่มวิทยาศาสตร์ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหรือหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อนำผลวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุที่ได้มาศึกษาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัยกันต่อไป
นางสาวสุดาวรรณ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานหลังการขุดตรวจทางโบราณคดีบริเวณดังกล่าว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยความร่วมมือระหว่าง ทน.นครราชสีมากับ สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ภายใต้โครงการปรับปรุงพื้นที่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จะนำผลวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุที่ได้มาศึกษาเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลจากแหล่งโบราณคดีที่มีอายุร่วมสมัย โดยกระบวนการวิเคราะห์ หลักฐานต่างๆ ครบถ้วนแล้ว จากนั้นได้นำส่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุบางส่วนให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ นครราชสีมา เก็บรักษาอนุรักษ์และจัดแสดงส่วนโครงกระดูกมนุษย์นำส่งเก็บรักษาและอนุรักษ์ที่ศูนย์วิจัยโบราณคดีบ้านเชียง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง จ.อุดรธานี
“การดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้การขุดตรวจทางโบราณคดี จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะกิจสำหรับคนในชุมชนเป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงไม่เพียงเป็นการต่อยอดทางวิชาการแต่ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรัก ตระหนักและหวงแหน หลักฐานทางโบราณคดีที่พบทั้งหมดในฐานะมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามแนวคิดของ สน.ศิลปากร 10 นครราชสีมา ที่ดำเนินการมาต่อเนื่อง คืองานโบราณคดีต้องต่อยอดวิชาการผสานชุมชน"
ทั้งนี้แหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน เมื่อพิจารณาพบเป็นหลักฐานทางโบราณคดีใหม่ที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองเก่าโคราช ที่ไม่เคยมีการขุดค้นทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นระบบมาก่อน หลังเก็บกู้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์ทั้ง 3 โครง จะชะลอการขุดค้นชั่วคราว เนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นอุปสรรคและปัญหาการขุดค้น ประกอบกับให้มีช่วงเวลานักโบราณคดีทำการศึกษาวิเคราะห์หลักฐานอย่างเป็นระบบ จากนั้นเดือนตุลาคมนี้ กรมศิลปากรจะจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนโบราณคดีให้ สน.ศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ดำเนินการขุดค้นที่แหล่งโบราณคดีเพิ่มเติม เพื่อให้ได้หลักฐานทางโบราณคดีที่มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่เมืองเก่าโคราช รวมถึงนำไปสู่การพัฒนา สร้างสรรค์ แหล่งโบราณคดีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมรูปแบบพิพิธภัณฑ์ประจำแหล่งโบราณคดี (site museum) ที่มีคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนต่อไป