ผศ. ดร.เมตยา กิติวรรณ  ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับรางวัล เป็นนวัตกรรมเม็ดดินที่ตอบโจทย์การปลูกพืชแบบยั่งยืน เม็ดดินมีรูพรุนที่ช่วยคงความชุ่มชื้นแก่พืช ทำให้รากพืชระบายอากาศได้ดี และประกอบด้วยธาตุอาหาร NPK ที่จำเป็นต่อพืชโดยมีอัตราการปล่อยปุ๋ยอย่างช้าๆ ใช้ปลูกพืชได้หลากหลายและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ทำให้การปลูกพืชง่ายขึ้นสำหรับทุกคน ใช้วัตุดิบหลักจากของเสียจากอุตสาหกรรมเซรามิกส์ ผลิตด้วยกระบวนการไมโครเวฟที่ประหยัดพลังงาน เซราโกรว จึงช่วยลดของเสียและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับการปลูกพืชด้วย "เซราโกรว" ซึ่งนวัตกรรมและความยั่งยืนมารวมกันเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ 

สำหรับจุดเด่นของผลงาน อยู่ที่เม็ดดิน "เซราโกรว" มีความพรุนตัวสูง ช่วยรักษาความชุ่มชื้นของดิน มีการเสริมธาตุอาหารหลัก NPK ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าเม็ดดินที่มีจำหน่ายในท้องตลาด เม็ดดินผลิตจากวัตถุดิบหลักที่เป็นของเสียจากอุตสาหกรรมเซรามิกส์ และเผาขึ้นรูปด้วยเตาไมโครเวฟ จึงทำให้มีต้นทุนต่ำ ประหยัดพลังงานการผลิต และเป็น Zero waste product ที่ทั้งวัตถุดิบและกระบวนการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

ผศ. ดร.พชรพล ตัณฑวิรุฬห์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า สำหรับประโยชน์ของผลงานเหมาะกับผู้ใช้งานทุกระดับเนื่องจากใช้งานได้ง่าย สามารถใช้ผสมดินเพื่อปลูกพืชในกระถางต้นไม้ และใช้โรยปิดหน้ากระถางพืชไม้ประดับเพื่อความสวยงาม และการต่อยอดธุรกิจได้มีการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว พร้อมสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ “เซราโกรว” ที่สามารถผลิตจากดินทั่วไปซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ราคาถูก กระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนทุกประเภท เช่น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน (SMCE) วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น รวมถึงพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ชุมชนที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหรืออิฐมอญที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม

ทั้งนี้ สจล. เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมสู่สังคมโลก “The World Master of Innovation” โดยผ่านการสำรวจ วิจัย วิเคราะห์ เข้าสู่กระบวนการวางแผนดำเนินการ ลงมือปฏิบัติ และติดตามประเมินผล ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างนักวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรม และสร้างเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง นำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์กับประเทศมากมาย รวมทั้งด้านความยั่งยืน (Sustainable University) ที่ สจล. มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีแนวทางลดการใช้พลังงานอย่างชัดเจน ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่บุคลากร นักศึกษา และสังคม โดยตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล. จะ ‘ลดปริมาณคาร์บอน’ ลงร้อยละ 50 และจะมุ่งสู่เป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ สำหรับประเทศไทย (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ภายใต้บริบทของสจล.ในการเป็น ‘ต้นแบบด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่โลกอนาคต บนคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’