ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานปฐมนิเทศทำสัญญา และกิจกรรมสัมพันธ์นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2567 โดยมี รองอธิการบดี คณบดี รองคณบดี ผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก คณาจารย์ อาจารย์ผู้สอน ผู้ปกครอง และนิสิตแพทย์ ชั้นปีที่ 1 จำนวนประมาณ 200 คน เข้าร่วมงาน ณ ห้องประชุม 601 A ชั้น 6 อาคารศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ 60 พรรษา มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์
ภายในงานประกอบด้วย การปฐมนิเทศนิสิต การแนะนำคณะแพทยศาสตร์และพบอาจารย์ที่ปรึกษา และการทำสัญญาการเป็นนิสิตนักศึกษาแพทย์ ของคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งนับเป็นการเปิดบ้านต้อนรับนิสิตแพทย์ รุ่นที่ 1 KU รุ่น 84 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นครั้งแรกอย่างอบอุ่นสมการรอคอย หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 โดยมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ เป็นสถาบันผลิตแพทย์ลำดับที่ 27 ของประเทศไทย ทั้งนี้นิสิตแพทย์ มก.ที่ผ่านการคัดเลือก เป็นรุ่นที่ 1 นี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 47คน มีผลคะแนนสอบโดยเฉลี่ยอยู่ในลำดับที่ 13 ของสถาบันผลิตแพทย์ 27 สถาบันของประเทศไทย และ ในรอบ Tcas 3 มีผู้สมัครสอบประมาณ1,500 คน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับนิสิตใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รุ่นที่ 1 และขอบคุณผู้ปกครองที่ให้ความเชื่อมั่นในการผลิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการจัดการเรียนการสอน วิจัย เพื่อการผลิตแพทย์ และให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนในบริบทของเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-Medicine and Bio-Innovation) และใช้ทรัพยากรจากทุกภาคส่วนทุกวิทยาเขตในการสนับสนุนการดำเนินงาน หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศไทยมีความเข้มแข็งทางด้านสุขภาพมากขึ้น การจะผลิตแพทย์รุ่นที่ 1 ได้นั้นจะต้องมีโรงพยาบาล และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับการอนุมัติงบประมาณ มีขนาด 400 เตียง เป็นทั้งส่วนของการเรียน สร้างประสบการณ์ ทางการแพทย์ ของนิสิตแพทย์ ชั้นปรีคลินิกและนิสิตพยาบาล ตลอดจนให้บริการแก่ประชาชนใน ฐานะหน่วยบริการระดับทุติยภูมิ (Secondary Care) ซึ่งถือเป็นเกณฑ์น้อยที่สุดสําหรับการเป็นโรงพยาบาลหลักในการผลิตแพทย์ ตามข้อกําหนดของแพทยสภาโดย ใช้เป็นสถานที่เรียนชั้นคลินิกของนิสิตแพทย์ และนิสิตพยาบาล ตลอดจนให้บริการแก่ประชาชนในฐานะหน่วยบริการระดับตติยภูมิ (Tertiary Care) และรองรับการเป็นศูนยการแพทย์ชั้นสูง (Excellence Center) ในอนาคต ซึ่งนับว่าโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับหนึ่งที่สามารถดูแลประชาชนในพื้นที่กรุงเทพตอนเหนือและปริมณฑลได้จำนวนมาก
อธิการบดี มก. กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีปณิธานที่มุ่งมั่นในการช่วยดูแลสุขภาพประชาชนอยู่แล้ว โดยเฉพาะความเจ็บป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับการเกษตรและเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ ตลอดจนโรคที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งมั่นในการสร้างบัณฑิตให้เป็นที่ยอมรับว่า มีอัตลักษณ์สำนึกดี สามารถพัฒนาตนเองเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์และประยุกต์ศาสตร์การแพทย์แห่งแผ่นดิน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของประชาชน รวมทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนั้น ขอให้นิสิตแพทย์ที่รับเข้ามาได้ตักตวงวิชาความรู้ ประสบการณ์ แนวคิดจากอาจารย์ผู้สอน เพื่อผสมผสานความรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีพ ได้ช่วยเหลือชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างดียิ่งต่อไป
ด้าน รศ.พล.อ.ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวถึงการเรียนในแต่ละชั้นปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ว่า มีการเรียนทั้งหมด 6 ปี ชั้นปี 1 เรียนปรับพื้นฐาน ชั้นปี 2-3 เริ่มเข้าสู่เนื้อหาแพทย์ และ เลือกชั้นคลินิก โดยชั้นปีที่ 1 – 3 เรียนที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ชั้นปี 4-6 เรียนที่ศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสกลนคร ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร สังกัด กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี สังกัด กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ได้มอบคำขวัญแก่นิสิตแพทย์ว่า “วินัยดี ปัญญาเยี่ยม เปี่ยมจริยธรรม”
ผศ.พล.ต.หญิง พญ.จันทราภา ศรีสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ มก. กล่าวว่าหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มก. มีความโดดเด่นด้านเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม มีการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เน้นการพัฒนาแพทย์เพื่อประชาชน แพทย์ชุมชน และการเป็นนักวิจัย ซึ่งการจะเป็นแพทย์ที่ดีต้องเป็น “ผู้ให้” แก่ประชาชนอย่างแท้จริง และต้องมีคุณธรรมจริยธรรมอย่างยิ่ง
รศ.นพ.พิงควรรศ คงมาลัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ มก. กล่าวว่า การเรียนคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เวลาเรียน 6 ปี ใช้ทุน 3 ปี และการเป็นนิสิตแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะต้องมีการทำวิจัย ซึ่งสามารถทำเป็นโครงการเดี่ยวหรือกลุ่มก็ได้ คณะแพทยศาสตร์ มก. มีทุนสนับสนุนการทำวิจัย ทั้งนี้ จะมีทีมงานจากโครงการ KUMed Nontri Research คอยประสานงานเรื่องการทำวิจัยให้กับนิสิตแพทย์
ขณะที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ นารถธนะรุ่ง รองคณบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ มก. กล่าวว่า ในการเรียนการสอนของหลักสูตรคณะแพทยศาสตร์ มก. มุ่งเน้นการเรียนแบบ Active Learning โดยมีกระบวนการทำงาน การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีระบบห้องเรียนอัจฉริยะ ระบบ E-learning ระบบจำลองสถานการณ์ Simulation รวมทั้งมีสื่อการสอนระบบเสมือนจริง นอกจากนี้เรายังมุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตคณะแพทยศาสตร์ มก. ให้มีทักษะดิจิทัลร่วมด้วยซึ่งเป็นทักษะสำคัญในโลกปัจจุบันและอนาคต
รศ.นพ.โอฬาร พรหมาลิขิต รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิต คณะแพทยศาสตร์ มก. กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มก. เน้นถึงการพัฒนาศักยภาพนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดังนั้น นิสิตแพทย์ 1 คน จะมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยดูแล 3 คน และนิสิตแพทย์ต้องเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและกิจกรรมของคณะ รวมทั้งหมด 8 กิจกรรมจึงจะสามารถจบเป็นบัณฑิตได้