วันที่ 14 มิ.ย.2567 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา สำนักงบประมาณของรัฐสภา(สงร.) จัดสัมมนาวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีเนื้อหามิติเศรษฐกิจมหาภาคและการคลัง การรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถและความอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติในกระบวนการงบประมาณ โดยมีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยาย เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถ และความอิสระของฝ่ายนิติบัญญัติ ในกระบวนการงบประมาณ

โดยนายพิเชษฐ์กล่าวว่า คาดหวังว่าจะรับทราบเสียงสะท้อนจากประชาชนเพื่อนำไปปรับปรุงการจัดทำงบประมาณต่อไป ทั้งงบกลางตามอำนาจของนายกรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัตินั้นจะต้องตรวจสอบ อย่างเข้มข้น เพื่อให้การใช้งบแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส ความคุ้มค่าและเป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งงบกลางของนายกฯพอใช้ไม่หมด 1 ปี ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ ที่ผ่านมารัฐบาลมีเทคนิคที่จะหลบเลี่ยงในการตรวจสอบต่างๆ ตรงนี้ฝ่ายนิติบัญญัติจำเป็นจะต้องเข้มแข็ง เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ฝั่งโน้นฝั่งนี้ไปเป็นรัฐบาลก็ไม่ได้เป็นรัฐบาลตลอดชีวิต หรือเป็น 100 ปีผลัดเปลี่ยนกันไป แต่การตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องเข้มแข็ง

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า ดังนั้นทาง สงร.ควรเพิ่มศักยภาพ และขีดความสามารถในเรื่องการตรวจสอบการใช้เงินของประเทศ โดยจะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้น ให้สส.และสว.ได้มีส่วนร่วม รวมทั้งจะต้องเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นอิสระและมีข้อมูลเพื่อให้ สส. สว.นำไปใช้ในการพิจารณางบประมาณ และประชาชนสามารถเข้ามารับทราบงบประมาณของจังหวัดตัวเอง เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนใหเการกระจายงบประมาณทั่วถึง

“ปัจจุบันนี้สภาฯอยู่อย่างประหยัด อยู่อย่างเท่ห์ เราใช้เงินไม่หมด ก็คืนให้กับรัฐบาลทุกปี ปีหนึ่งงบ.สส.และสว.รวมแล้วประมาณ 5 พันล้านบาทที่ต้องคืน และสส.ก็ไม่สามารถแปรญัตติเพิ่มงบประมาณให้กับตัวเองได้ เพราะกลัวขัดรัฐธรรมนููญที่ไม่ให้สส.เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพราะกลัวเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ตัวอย่าง งบในปี 68 เราได้งบฯทั้งสส.และสว. มีสัดส่วน 0.2 % ของงบทั้งประเทศ และเมื่อเทียบกับกระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มาก สภาฯยังได้น้อยกว่าบางกรมของกระทรวงเหล่านี้ ดังนั้นเราจะขับเคลื่อนประชาธิปไตยได้อย่างไร จึงทำให้สส.ที่เป็นกรรมาธิการงบฯก็ไม่กล้าแปรญัตติเพิ่มให้ทั้งที่เราขอเพิ่มไป 800 ล้านบาท จึงขอฝากให้จัดงบฯปี 69 เพิ่มกิจกรรมให้มากขึ้น เพื่อให้ได้งบจาก 5,400 ล้านบาท เป็น 6,000 ล้านบาท ทั้งนี้การที่เราไม่ได้งบเพิ่ม จุดอ่อนคือสภาฯชี้แจงของบไม่ชัดเจน”นายเชิษฐ์กล่าว
 

นายพิเชษฐ์กล่าวต่อว่า หากสภาฯสามารถหางบได้ด้วยตัวเองก็เป็นการดี เพราะวันนี้เราแพ้ อบต.แพ้เทศบาล ที่งบประมาณเหลือ เขาสามารถสะสมงบประมาณได้ แต่สภาฯต้องคืนทุกปี เพราะเราไม่สามารถจัดการตัวเองเพื่อไม่ต้องคืนเงินที่เหลือจ่ายได้ ซึ่งตอนนี้ตนได้หารือกับฝ่ายกฎหมายของสภาฯ เพื่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)แก้ไขระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ต้องส่งให้รัฐบาล เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน เมื่อเข้าสภาฯแล้วก็เชื่อว่าทุกพรรคคงไม่ขัดข้อง ดังนั้นต่อไปนี้เราจะต้องสู้ และขอให้ สงร. ไปวิจัยว่าในปีงบประมาณปี 69 และ ปี70 สภาฯควรมีงบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งควรจะเพิ่มขึ้นทุกปี เพื่อนำไปอ้างอิงกับสำนักงบประมาณ