วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่าย จัดงาน วันไข้เลือดออกอาเซียน 2567 หรือ ASEAN Dengue Day 2024 ภายใต้แนวคิด Dengue Hero towards Zero Death เพื่อสร้างการตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนถึงอันตรายของไข้เลือดออกที่ใกล้ตัว โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มพบโรคไข้เลือดออกเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เนื่องจากเป็นประเทศเขตร้อนชื้น มีน้ำขังมาก ประกอบกับปัจจุบันประสบปัญหาสภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการระบาดของโรคสูงทุก 2-3 ปี ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ปัจจุบันมีอาสาสมัครในพื้นที่ทั่วประเทศไทยกว่า 1 ล้านคน เพื่อช่วยกันให้ความรู้ แนวทางป้องกัน และควบคุมยุงลาย เพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออก จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ไทยเป็นตัวอย่างระดับภูมิภาคในการควบคุมโรคไข้เลือดออก รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่แลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการโรคไข้เลือดออกระดับอาเซียนอีกด้วย

 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากสภาพภูมิทัศน์ของกรุงเทพมหานครที่หลากหลาย เอื้อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อป้องกันและควบคุมไข้เลือดออก กทม. จึงดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน โรงเรียน และศาสนสถาน โดยการเฝ้าระวังการเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ชุมชน การปรับภูมิทัศน์สิ่งแวดล้อม จัดทำ Big Cleaning Day ลงพื้นที่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง และย้ำเตือนแก่ประชาชนและอาสาสมัครสาธารณสุขทั้ง 50 เขต ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอยในการที่ช่วยกระจายความรู้ ร่วมกับการย้ำเตือนถึงวิธีลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายด้วยมาตรการ 5ป. 1ข. 3 เก็บ ได้แก่ 5ป. ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง ปฏิบัติ เพื่อปราบยุงลาย 1ข. ขัดทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำ และ 3 เก็บ เก็บขยะ เก็บบ้าน เก็บน้ำ พร้อมทั้งใช้แอปพลิเคชัน Line ในการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนทราบถึงภัยของไข้เลือดออกและแนวทางในการป้องกันตนเอง

 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยอดผู้ป่วยไข้เลือดออกในประเทศไทยอาจพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค -5 มิ.ย.67 จำนวน 30,353 ราย เสียชีวิต 36 ราย และคาดว่าอาจเสียชีวิตมากกว่า 200 รายในปีนี้ ซึ่งเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี สำหรับแนวทางการป้องกัน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้กำหนดมาตรการ 4 เน้น 4 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.- ก.ย. 2567 คือ 1.การเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย 2.การตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกตามแนวทางมาตรฐาน 3.การวินิจฉัยและรักษา ให้สถานบริการในพื้นที่ตรวจผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายด้วยชุดตรวจเร็วสำหรับไข้เลือดออก (NS1) 4.การสื่อสารความเสี่ยง เน้นประชาสัมพันธ์ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยา NSAID ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมป้องกันไข้เลือดออก บอกต่อแนวทางการป้องกันไข้เลือดออกให้กับคนใกล้ตัว เพื่อกระจายความรู้เป็นวงกว้าง

 

นายยูจิ ซิมิซี ประธานกรรมการ บริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาฟีเจอร์ Mosquito Bite Crowdsourcing ในแอปพลิเคชั่น รู้ทัน หรือแอปแจ้งเตือนภัยสุขภาพที่อยู่รอบตัว ซึ่งดำเนินการโดย เนคเทค สวทช. และกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้ามาร่วมช่วยกันรายงานสถานการณ์ของยุงตรงพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่ จากการทำงาน หรือทำ กิจกรรมใด ๆ ได้จากทั่วประเทศ โดยข้อมูลการรายงานนี้ จะนำมาช่วยเสริมการตรวจจับการระบาดในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกต่อไป อีกทั้งคาโอยังให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดระดับประเทศ ได้ทำการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ป้องกันยุงให้ทางกรมควบคุมโรคอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการแพร่ระบาดจากโรคไข้เลือดออกในวงกว้าง รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อปกป้องผู้คนให้ห่างไกลจากยุงอีกด้วย

 

นายปีเตอร์ สไตรเบิล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้มีการจัดทำแผนแม่แบบระบบ โดยประสานความร่วมมือกับพันธมิตร พร้อมเปิดตัว 'อิงมา' Dengue Virtual Human หรือมนุษย์ที่สร้างขึ้นแบบเสมือนจริงเพื่อเป็นตัวแทนของผู้ป่วยไข้เลือดออกในไทยจำนวน 1,237,467 คน ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นความตระหนักรู้ของโรคไข้เลือดออกตามสื่อต่าง ๆ สำหรับปีนี้ได้จัดแคมเปญ ยิ่งไม่รู้ ยิ่งต้องป้องกัน ภายใต้ความร่วมมือ Dengue-zero นำโดย กรมควบคุมโรค และ กรุงเทพมหานคร มุ่งยกระดับการสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความอันตรายของโรค เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการระบาด การเจ็บป่วย และการสูญเสียให้เป็นศูนย์ในไทย