ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

คนรุ่นใหม่เชื่อว่าอนาคตของโลกอยู่ในมือของพวกเขา แต่ความจริงนั้นอดีตก็ถูกสร้างมาด้วยมือหลายมือ ทั้งนี้การสร้างอนาคตก็ยังต้องใช้หลาย ๆ มือ หรือความร่วมมือของคนหลาย ๆ รุ่นมาช่วยกัน

งานการเมืองมักทำให้คนลุ่มหลงได้โดยง่าย โดยเฉพาะการขายฝันให้กับคนรุ่นใหม่ ผมเองก็เคยลุ่มหลงมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม เมื่อครั้งที่ไปร่วมเดินขบวนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ทั้งที่ตอนแรกว่าจะไปแค่ฟังเพลงเพื่อชีวิตที่มาแสดงบนเวทีปราศรัย แต่ระหว่างนั้นก็มีการขึ้นอภิปรายของ “ดาวดัง” หลายคน ซึ่งตรึงผู้ฟังด้วยสาระและลีลาที่ดุเดือด โดยเฉพาะการเน้นย้ำความสำคัญของคนรุ่นใหม่ ว่าคือ “พลังสำคัญ” ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ แต่ที่น่ากลัวก็คือถ้าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็จะต้อง “ทำลายล้าง” คนรุ่นเก่า ที่ผู้นำสมัย 14 ตุลา 16 เรียกว่า “พวกไดโนเสาร์เต่าล้านปี” จนกระทั่งตอนนั้นก็พาลเกลียดและโกรธคนรุ่นเก่าไปด้วย

เฌอปรางก็คงอยู่ในอารมณ์เดียวกันกับคนรุ่นใหม่ทั้งหลายไม่ว่าในยุคสมัยใด ผมไม่ได้คุยโดยตรงกับเฌอปรางว่าเธอถูกบรรดา “ไอดอล” ของเธอพร่ำสอนอะไรบ้าง แต่จากที่ติดตามความเคลื่อนไหวของเยาวชนเหล่านี้ผ่านข่าวสารทางสื่อต่าง ๆ รวมถึง “โซเชี่ยลมีเดีย” ที่มีอิทธิพลต่อคนกลุ่มนี้มาก ๆ ก็พอจะเชื่อมโยงได้ว่า เธอและพวกถูกสอนให้ “เชื่อฟัง” ในเรื่องใหญ่ ๆ 3 เรื่อง คือ

หนึ่ง ประเทศไทยมีความล้าหลังทางระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก เพราะ “พวกอำมาตย์” ไม่ยอมละทิ้งอำนาจ มีแต่พยายามจะครอบงำและผูกขาดอำนาจไว้ในทุกวิถีทาง  พวกอำมาตย์นี้ยึดโยงตัวเองเข้ากับสถาบันสูงสุดของประเทศ (ถึงขั้นที่ “ไอดอล” ของเยาวชนเหล่านี้กล้าพูดว่า “ช่วยกันทำมาหากิน”) อำมาตย์เหล่านี้แต่เดิมหมายถึงแค่ทหารและข้าราชการใหญ่ ๆ ทั้งที่ยังมีตำแหน่งและเกษียณไปแล้ว แต่ตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้ดึงพวกพ่อค้าและนายทุนใหญ่ ๆ และ “ข้าบริพาร” บางคนมาอยู่ในวงอำนาจนี้ด้วย ซึ่งคนเหล่านี้ไม่ใช่ “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” แบบผู้มีอำนาจในสมัยก่อน แต่ได้กลายเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย” หรือผู้ “หวงก้างอำนาจ” แบบที่ไม่ยอมให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม

สอง การที่จะทำลายพวกอำมาตย์เหล่านี้ออกไปได้ จะต้องเริ่มจาก “การทำลายประวัติศาสตร์” หรือเขียนประวัติศาสตร์การเมืองเสียใหม่ อย่างที่ได้มีความพยายามที่จะเน้นย้ำเรื่องของ “คณะราษฎร” ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เพื่อ “ก่อตั้งฐานราก” ของการเกิดพลังคนรุ่นใหม่ ว่าเกิดจากการที่ข้าราชการรุ่นใหม่ในยุคนั้นกล้าโค่นล้มเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ชัดเจนแก่คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ ที่จะต้องสืบต่อปณิธานของคณะราษฎรในแนวที่ต้อง “โค่นล้ม” เช่นนั้นเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้นภายใต้ “การอบรมสั่งสอน” ผ่านสื่อต่าง ๆ ของบรรดาผู้นำเยาวชนกลุ่มนี้ ยังชี้ให้เห็นถึง “ภัยคุกคามในรัฐสภา” ที่กำลังจะเกิดกับคนรุ่นใหม่ อันเกิดจากการครอบงำกลุ่มอำมาตย์ผ่านระบบพรรคการเมือง โดยหลังสุดนี้ก็คือการทำ “ดีลลับ” ระหว่างกลุ่มอำมาตย์กับนักโทษชายที่ยังมีอิทธิพลต่อพรรคแกนนำรัฐบาล จนเกิด “รัฐบาลข้ามขั้ว” นี้ขึ้น (จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยจึงตกต่ำ ในขณะที่ของพรรคก้าวไกลยิ่งสูงขึ้น) อันเป็น “เป้าหมายต่อไป” ที่คนรุ่นใหม่จะต้องช่วยกันจัดการ

และสาม ผู้นำของคนกลุ่มนี้พยายามทำให้เกิด “อภินิหาร” ต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าอำนาจกำลังเข้ามาสู่มือของคนรุ่นใหม่ เช่น พวกที่ทำหน้าที่ในสภาก็พยายามออกกฎหมายที่เชื่อว่าเป็นความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่น กฎหมายเพื่อความเท่าเทียมต่าง ๆ หรือการขยายเสรีภาพในด้านต่าง ๆ รวมถึงการลดบทบาทหรือบั่นทอนอำนาจของสถาบันต่าง ๆ ในเครือข่ายของพวกอำมาตย์ โดยเฉพาะทหาร ข้าราชการ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ (และคาดว่ามีเป้าหมายที่สูงกว่านั้นอีกด้วย) ทั้งนี้มีการเชื่อมโยงกิจกรรมเข้าด้วยกับต่างประเทศ ทั้งในเรื่องเงินทุนและการเคลื่อนไหว โดยเป้าหมายขั้นแรกจะมุ่งทำลาย “เครดิต” ของสถาบันเหล่านั้น ทั้งเรื่องข่าวลือและ “ข่าวเลว” ที่สร้างขึ้น ขั้นต่อไปก็คือ “สร้างฝัน” ไปสู่สถาบันใหม่ ๆ เช่น ระบอบสาธารณรัฐและประธานาธิบดี (ซึ่งถ้าเป็นไปได้ยากก็จะสร้าง Chaotic Politic - การเมืองแบบเลอะเทอะวุ่นวาย จนถึงระบอบอนาธิปไตย – Anatomy นั้นขึ้นมาแทน)

ข้อความในวงเล็บตรงเรื่องที่สามนี่แหละที่น่ากลัวและน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่ได้รับรู้ในเรื่องนี้หรือถูก “อบรมสั่งสอน” ให้สร้างให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด เพราะบรรดาแกนนำกลุ่ม(ที่ขอตั้งชื่อให้ใหม่ว่า) “โลกใหม่” นี้ไม่ต้องการที่จะทำให้เยาวชนทั้งประเทศปั่นป่วนไปก่อน เพียงแต่เชื่อว่าเมื่อเกิดการเมืองที่เลอะเทอะวุ่นวายขึ้นมา ก็อาจจะนำไปสู่ “การเมืองใหม่” อย่างที่พวกแกนนำต้องการนั้นได้ง่ายขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข้อมูลเชื่อมโยงไปอีกว่า การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มโลกใหม่” ในประเทศไทย เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งของสงครามเศรษฐกิจและการแสวงหาอำนาจของมหาอำนาจบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ต้องการทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาหรือมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย “ค่อย ๆ ย่อยยับ” เพื่อไม่ให้กลายมาเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไทยอาจจะเอนเอียงไปเข้าด้วยคู่แข่งทางอำนาจทั้งเศรษฐกิจและการเมืองของโลก อย่างประเทศจีน ยิ่งไปกว่านั้นมีการพบว่ายังมีนายทุนข้ามชาติที่มีพลังเงินมหาศาล อย่างเช่นกรณีของ Hedge Fund ของมหาเศรษฐีบางคน ก็ชอบที่จะให้เกิดภาวะวุ่นวายขึ้นเป็นจังหวะ ๆ ดังที่มีข่าวว่าคนพวกนี้ก็แอบให้ทุนกับนักเคลื่อนไหวทั้งหลายในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย

แน่นอนว่าเยาวชนของไทยไม่ได้เรียนการเมืองอย่างลึกซึ้งมาทุกคน เพียงแต่คนที่ถูกหล่อหลอมมาในแบบความเชื่อข้างต้น ก็อาจจะเชื่อไอดอลหรืออาจารย์ของพวกเขาอยู่เป็นทุนเดิม จึงเชื่อง่าย ๆ ว่าสิ่งคนระดับปรมาจารย์ที่มาพูดหรือมาสอนพวกเขาในเรื่องเหล่านั้น “พูดในสิ่งที่น่าเชื่อถือ” อย่างถูกต้องที่สุดแล้ว แต่พวกเขา(เยาวชน)ก็ลืมไปว่าพวกปรมาจารย์เหล่านั้นไม่ได้สอนอย่าง “หมดไส้หมดพุง” เพราะถ้าพวกปรมาจารย์เหล่านี้มี “เจตนาร้าย” จริง ๆ เขาก็แค่เก็บเจตนาร้ายอันเป็นที่รับรู้ระหว่างปรมาจารย์ด้วยกันนั้นไว้ แล้ว “ปล่อยของ” หรือสร้างความเชื่อแต่เฉพาะเท่าที่จำเป็น หรือเท่าที่จะเกิดสิ่งที่ต้องการนั้นได้ หลักการนี้ในทางวิชาข่าวกรองของฝรั่งท่านเรียกว่า “Need to Know” คือให้แต่ละคน “รู้แค่ที่จำเป็น” หรือเฉพาะที่จะนำไปใช้

เฌอปรางเป็นตัวอย่างเพียงหนึ่งในหลาย ๆ คนที่กำลังอยู่ภายใต้ “สงครามความเชื่อ” ซึ่งถ้าเธอยังอยู่ใน “กะลาครอบ” ใบเดิมอย่างที่ผ่านมาในช่วงวัยรุ่นและเป็นนักศึกษานี้ เธอก็จะยังตกเป็นเครื่องมือของบรรดา “แกนนำโลกใหม่” นั้นไปเรื่อย ๆ แต่ในสังคมแบบเปิดอย่างที่ประเทศไทยก็เป็นอยู่ด้วย โดยเฉพาะในอาชีพที่เธอจะต้องไปพบปะกับผู้คนมากมาย(ถ้าทำงานจริง) คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะต้องพบตั้งแต่ชนชั้นสูงคืออำมาตย์ทั้งหลาย ลงมาจนถึงผู้เลือกตั้ง คือประชาชนคนไทยทั่วประเทศ รวมถึงคงจะต้องได้เดินทางไปต่างประเทศและพบปะผู้คนต่างถิ่นต่างที่อยู่เป็นประจำ เธอก็อาจจะได้พบกับ “ความรู้ใหม่ ๆ” ที่อาจจะนำมาซึ่ง “ความเชื่อใหม่ ๆ” ที่อาจจะแตกต่างความเชื่อที่มาแต่เดิมนั้นได้ แน่นอนว่าถ้าเธอต้องการที่จะ “เปลี่ยนโลก” นี้จริง ๆ เธอก็นำความเชื่อใหม่ ๆ นั้นมาปรับใช้ รวมทั้งที่ “ปรับตัว” ของเธอเองนั้นด้วย

โชคดีที่ธรรมชาติสร้างให้ทุกสรรพชีวิตเติบโตเพื่ออยู่รอด และเมื่อมองให้ละเอียดลงไปลึก ๆ แล้ว การที่จะอยู่รอดได้นั้น ทุกสรรพสิ่งก็ต้องพึ่งพาอาศัยหรืออยู่รอดไปด้วยกัน

โลกนี้แม้การเมืองจะชั่วหรือสังคมจะเลว แต่ถ้าการเมืองที่ชั่วและสังคมที่เลวนั้นจะนำความเสียหายหรือ “หายนะ” มาสู่มนุษย์ ธรรมชาติของมนุษย์ก็จะกำจัดการเมืองที่ชั่วและสังคมที่เลวนั้นในที่สุดเช่นกัน

ขอเพียงว่ามนุษย์ต้องเรียนรู้และพร้อมที่จะร่วมมือกันและกัน !