กรุงเทพมหานคร เร่งกระจายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ พร้อมทบทวนเกณฑ์อนุมัติ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนนำเสนอโครงการชวนของบโครงการสุขภาพ เร่งทบทวนเกณฑ์อนุมัติ เหตุเงินค้างกองทุนไร้ประโยชน์กว่า 1.5 พันล้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.จ่อยกเลิกสนับสนุน ซึ่งถูกมองว่าเงินส่วนนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ตามวัตถุประสงค์กองทุนที่ต้องการให้ภาคประชาชนเขียนโครงการของบประมาณเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับด้านสุขภาพ แต่ยังไม่ได้รับความสนใจจากภาคประชาชนเท่าที่ควร
นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ภาคประชาชน เป็นเรื่องสำคัญที่ กทม.มีการหารือเพื่อหาทางบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขณะนี้กองทุนดังกล่าวมีเงินสะสมถึงหลักพันล้าน โดยมีสัดส่วนการสนับสนุนงบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปีละประมาณ 60% และจาก กทม.ปีละ 40% ในอัตราเฉลี่ยตามจำนวนประชากรกรุงเทพมหานครทั้งหมด รายละ 45 บาท ทุกปี ปัจจุบันมีเงินสะสมกองทุนดังกล่าวกว่า 1,500 ล้านบาท ปัญหาขณะนี้คือ เงินส่วนนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ตามวัตถุประสงค์กองทุนที่ต้องการให้ภาคประชาชนเขียนโครงการของบประมาณเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับด้านสุขภาพ แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้รับความสนใจและยังไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณางบประมาณมากนัก ทำให้เงินสะสมกองทุนมีมากเกินเกณฑ์ ส่งผลให้ สปสช.กำลังจะหยุดสนับสนุนงบดังกล่าว
เรื่องนี้ผู้ว่าฯกทม.กำชับให้มีการกระจายงบออกไปให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ แต่ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนยังเข้าไม่ถึงงบดังกล่าว โดยคุณสมบัติผู้ของบประมาณอาจเป็นองค์กร สมาคม มูลนิธิ ชุมชน ชมรม หรือประชาชนที่รวมตัวกัน 5 คนขึ้นไป สามารถเสนอแผนโครงการได้ 2 ประเภท คือ งานด้านส่งเสริมสุขภาพ และ งานด้านป้องกันโรค เช่น การป้องกันปัญหาต่าง ๆ ในหญิงตั้งครรภ์ การรณรงค์ป้องกันยาเสพติด การอบรมแม่และเด็กก่อนวัยเรียน การส่งเสริมสุขภาพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ เป็นต้น
“กองทุนนี้เปิดกว้างมาก แม้แต่สื่อมวลชนเองก็สามารถรวมตัวกันของบประมาณทำเรื่องสุขภาพตามเกณฑ์กำหนดได้ แต่ปัญหาขณะนี้คือประชาชนเข้าไม่ถึงงบประมาณ ซึ่งต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเขียนโครงการ รายละเอียดต่าง ๆ เหตุผลที่เหมาะสม ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ อาจมีรายละเอียดการพิจารณามากเพื่อความโปร่งใส แต่หากมีความเข้าใจก็สามารถของบประมาณได้ กทม.กำลังวางแผนสร้างความเข้าใจเพื่อสนับสนุนประชาชนในส่วนนี้”
นายภาณุมาศ อธิบายขั้นตอนการของบว่า เริ่มจาก 1.ประชาชนคิดประเด็นตามกรอบปัญหาสุขภาพและแนวทางแก้ไข 2.เขียนโครงการ 3.จัดเตรียมเอกสารเสนอขอเงินทุน 4.ยื่นเอกสารขอเงินทุนกับ กทม. (เขต) 5.ปรับปรุงเอกสารให้ถูกต้องตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง 6.รอผลพิจารณาจัดสรรเงินทุน หากไม่ผ่าน ต้องกลับไปทบทวนโครงการใหม่ (ข้อ2) 7.เมื่อโครงการผ่านแล้ว จัดเตรียมเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง 8.ทำบันทึกข้อตกลง 9.ขอเบิกเงิน 10.ดำเนินโครงการตามแผน 11.รายงานผลดำเนินงาน
ด้านนายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหาและเกณฑ์การพิจารณาโครงการว่า การของบต้องมีความโปร่งใส หากมีวงเงิน 1,000,000 บาทขึ้นไป ต้องผ่านการพิจารณาชุดใหญ่ แต่ส่วนมากจะของบไม่เกิน 1 ล้านบาท เพราะผ่านการพิจารณาในระดับเขต ซึ่งเป็นที่จับตามองของหน่วยงานด้านต่อต้านทุจริต เนื่องจากสงสัยว่า มีความจงใจขอจำนวนเงินเกือบ 1 ล้านบาทในแต่ละโครงการ เพื่อต้องการให้เขตเป็นผู้พิจารณา จากการสอบถามเขตต่าง ๆ พบว่า แต่ละเขตมีการพิจารณาตามมาตรฐานไม่เท่ากัน บางโครงการมีความซ้ำซ้อนกับโครงการที่เขตหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว หลายเขตจึงมีความกังวลเรื่องการถูกตรวจสอบเรื่องทุจริต จึงไม่อนุมัติโครงการ แต่ก็มีบางเขตอนุมัติโครงการตามอำนาจวงเงิน ซึ่งต้องติดตามเรื่องความโปร่งใสต่อไป
ในกรณีของบเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งมีความล่าช้าในการอนุมัติโครงการ นายชาตรี อธิบายว่า เนื่องจากคณะกรรมการชุดใหญ่จำเป็นต้องตรวจสอบความเหมาะสมของวงเงิน และแนะนำให้ไปปรับปรุงแก้ไข ยกตัวอย่าง มีการของบประมาณไปสอนทำ CPR ในโรงเรียนเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 10 โรงเรียน โรงเรียนละ 1,000 คน ใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท คณะกรรมการจึงมีข้อสงสัยให้กลับไปแก้ไขเพิ่มเติม เช่น ระบุระดับชั้นของนักเรียนที่จะอบรมให้ชัดเจน หรือให้มีนักเรียนเข้าอบรมทั้งหมดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 รวมถึง เหตุใดต้องนำนักเรียนไปฝึกอบรมในสถานที่ที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้ ในเมื่อโรงเรียนมีสถานที่รองรับการอบรมอยู่แล้ว เพื่อประหยัดงบค่าสถานที่ ค่ารถ และเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้สอบถามความต้องการและความพร้อมในการอบรมเรื่องนี้กับโรงเรียนต่าง ๆ ด้วย เพื่อประกอบการพิจารณา และให้ผู้ของบประมาณกลับไปแก้ไขรายละเอียดโครงการให้เหมาะสมต่อไป ในปี 2568 สปสช.อาจไม่สนับสนุนเงินกองทุนนี้แก่ กทม.เพิ่ม เนื่องจากตามเกณฑ์กำหนด กองทุนส่วนของ กทม.มีเงินเหลือมากเกินไป ซึ่งเงินดังกล่าวจะยังค้างในกองทุน ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้