ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“ในโครงสร้างของชีวิตหนึ่ง มนุษย์จักต้องพบเจออุปสรรคที่บั่นทอนความมั่นคงของชีวิตนานา..เกิดการเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนแปรอันยากจะคาดเดา..ความเข้มแข็งแห่งจิตวิญญาณของตัวตนอยู่ตรงนี้..อยู่ที่วิกฤตอันเกิดขึ้นทุกช่วงขณะ ดั่งว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา...และทุกๆขณะคือปัจจุบัน...มิติคิดนี้..คือการใคร่ครวญที่ชวนให้ตัวตนของมนุษย์ทุกคนต้องผจญนี่คือ..แก่นสารสาระของหนังสืออีกเล่มหนึ่งของ.. “OZHO” ผู้สอนวิถีปฏิบัติแห่งสมาธิ ณ ปัจจุบันขณะ สู่การตื่นรู้ในทุกๆวันเพื่อการหลอมรวม..กาย จิตใจ และจิตวิญญาณ..ให้บรรลุถึงความสว่างไสวภายในตัวจนนิรันดร์..
การศึกษาความเป็นนิรันดร์แห่งชีวิตเช่นนี้ คือสิ่งอันควรค่าแก่การศึกษา..ซึ่งจะทำให้มนุษย์เราทุกคนเข้าใจถึงความจริงที่ว่า ...การนั่งทำสมาธิจิตหาใช่เพียงแค่นั่งหลับตา แล้วท่องคำภาวนาไปเรื่อยๆอย่างผิวเผิน..แต่มันคือการทำความเข้าใจธรรมชาติของชีวิตเราอย่างแท้จริง..
และเมื่อเราสามารถเข้าใจมันได้แล้ว..เราก็จะท่องไปในโลกของความคิดและจิตวิญญาณได้อย่าง “เด็ดเดี่ยว” ..ตลอดไป.. กับ ความเด็ดเดี่ยว..สู่การตีความสรรค์สร้างอันไม่หยุดนิ่ง..จวบจนภาวะอุปสรรคของชีวิตจะ..คลี่คลาย..ลงได้ในที่สุด..
“เด็ดเดี่ยว”..หนังสือรวมข้อคิดในการใช้ชีวิตเล่มสำคัญอีกเล่มหนึ่งของ “OSHO” ที่แนะนำและสอนให้เราทุกคนตระหนักว่า.. “มนุษย์เราต้องมีความเบิกบาน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการมีชีวิตอยู่อย่างอันตราย”
ทั้งนี้ “OSHO” พยายามจะสื่อสารและบอกกับเราว่า..เราทุกคนต่างมีชีวิตอยู่โดยอาศัยหัวหรือความคิดเป็นหลัก ทั้งๆที่..เราก็รู้ดีว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาในโลกแห่งชีวิตเรานั้น..หาได้เป็นไปตามความคิดของเราเสมอไป แต่ชีวิตเป็นสิ่งที่เลื่อนไหล มันเคลื่อนไปข้างหน้าในทุกๆขณะ..เราไม่อาจจะคาดหวังความแน่นอนจากการเคลื่อนไปข้างหน้าของชีวิตได้เลย..แม้เมื่อใด ..
“ความเด็ดเดี่ยว” คือความจริงที่ตอกย้ำกับชีวิตว่า..ไม่ว่าจะตกอยู่ในยามใด..เราจักต้องเข้มแข็งและเป็นตัวของตัวเอง..เพราะแท้จริงแล้วมนุษย์เรามักจะหลงลืมความเข้มแข็ง..เราต่างขลาดกลัวความเป็นตัวของตัวเองไป อย่างไม่รู้ตัว..เหตุนี้เราจึงพยายามที่จะเป็นคนอื่น พยายามให้ผู้อื่นยอมรับ “พยายามเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง..ยกเว้นตัวเราเอง..”
“OSHO” ..ได้สอนสั่งให้บรรลุสติสู่ฐานรากของชีวิตด้วยวิจารณญาณ..ผ่านการหยั่งคิดภายในตัวตน สู่สภาวะอันพลิกผันต่อชีวิตภายในอก ได้อย่างตรงประเด็น..เพียงขอให้ชีวิตได้ประจักษ์ต่อการกระตุ้นเร้ามโนทัศน์อันแม่นตรงและสมบูรณ์ เราก็จะสามารถสัมผัสกับวิถีแห่งสัจจะอันล้ำลึกได้ไม่ยาก
“ไม่มีอะไรที่เป็นของเก่าซ้ำซากบนโลกนี้...ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของใหม่ตลอดเวลา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่..ทุกสิ่งเคลื่อนไปตลอดเวลา..มีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่แน่นอน มีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่ถาวร..”
..ความมั่นใจ..ถือเป็นสิ่งสำคัญที่แฝงฝังอยู่กับชีวิตในทุกเมื่อ ...จิตใจที่แข็งแกร่งและไม่ขลาดกลัว จะนำชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้าสู่จุดมุ่งหวังอย่างมาดมั่น..ผ่านภยันตรายจากความคิดและการกระทำที่อ่อนล้าและไม่แน่ใจได้เสมอ..มันคือสัญชาตญาณแห่งการนำทางอันแม่นตรงและลึกซึ้ง..เท่าที่เราจะเรียนรู้ได้จากพื้นฐานของความเป็นจริง..
“SOHO” ได้อธิบายถึงความจริงในข้อนี้ว่า.. “เมื่อท่านเกิดความไม่มั่นคง..ความเข้าใจก็จะแฝงฝังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มันเป็นเรื่องที่ดีที่เป็นเช่นนั้น เพราะมันจะทำให้ชีวิตมีอิสรภาพ เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตต้องประหลาดใจอยู่ตลอดเวลา..
..คนเรานั้นไม่เคยรู้ว่า..อะไรจะเกิดขึ้น มันจึงทำให้เราพิศวงสงสัยอยู่โดยตลอด...จงอย่าเรียกมันว่าความไม่แน่นอน แต่ให้เรียกมันว่าความน่าพิศวง..จงอย่าเรียกมันว่าความไม่มั่นคง..แต่จงเรียกมันว่า .. “อิสรภาพ”..
การเรียนรู้ที่บริสุทธิ์..นับเป็นอีกแห่งเจตจำนงของชีวิต ที่จะค่อยๆคลี่คลาย และ หลอมรวมสัจธรนัยหนึ่งซึ่ง “OSHO” ได้สอนสั่งและอธิบายไว้..เขามุ่งตรงสู่ฐานการศึกษาจากเด็ก..เพื่อการประจักษ์ถึงรากเหง้ารมนี้จนบังเกิด เป็นปฏิกิริยาแห่งความรู้แจ้ง..บางสิ่งซ่อนตัวอยู่ในบทเริ่มต้น..กระทั่งวันหนึ่งมันจึงจะเผยกายร่างออกมาให้.โลกได้รับรู้...อย่างเปิดเผยเสียที..!
“ในโลกที่ดีกว่า..เท่าที่ผ่านมาผู้ใหญ่น่าจะต้องเรียนรู้จากเด็ก..แต่ผู้ใหญ่กลับรีบร้อนเกินไป..พวกเขาเอาแต่มุ่งที่จะสอนเด็กๆ..ดูเหมือนไม่มีใครเลยที่พร้อมจะเรียนรู้จากเด็ก ..เด็กๆมีอะไรมากมายที่จะสอนผู้ใหญ่ได้ แต่ผู้ใหญ่เองต่างหาก ที่แทบจะไม่มีอะไรไปสอนพวกเขา..”
ในความหมายของชีวิตที่แท้.. “OSHO” ได้อธิบายถึงการใช้ชีวิตออกไปเบื้องหน้า ซึ่งจะมีคุณประโยชน์มากกว่า การมุ่งพยายามเพียงแต่ขอให้เข้าใจในชีวิต..เพราะเบื้องลึกทางความคิด..หาได้มีพลังต่อการจัดการสรรค์สร้างตัวตนได้ดีเท่ากับการลงมือปฏิบัติทางกาย ที่ให้สัมผัสรู้สึกที่มากกว่า..เหตุนี้คนเราทุกคน..จึงต้องมองไปข้างหน้า..และใช้ชีวิตออกไปผจญภัยกับมัน..ให้ถึงที่สุด..
“จงอย่าได้พยายามที่จะเข้าใจชีวิต ..แต่จงใช้ชีวิต ...อย่าได้พยายามเข้าใจความรัก..แต่จงเคลื่อนเข้าไปในความรัก แล้วท่านจะตระหนัก แล้วท่านจะรู้..เป็นองค์ความรู้ที่ออกมาจากประสบการณ์ตรงของท่าน.. “การรู้” นั้นจะไม่ทำลายความลี้ลับใดๆ ยิ่งรู้มากเท่าไหร่..ท่านก็ยิ่งจะรู้ว่า..ยังมีอะไรอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้...”
ที่สุดแล้ว “OSHO” ก็เหมือนจะสรุปเอาไว้ว่า..ความกล้าคือรากฐานของความ “เด็ดเดี่ยว”...และ “ความเด็ดเดี่ยว” ก็คือชนวนสำคัญแห่งความหาญกล้าของชีวิต..เนื่องเพราะ..
“คนกล้าจะมุ่งตรงไปข้างหน้า พวกเขาจะค้นหา แม้สิ่งที่ผู้คนทุกคนมองว่าเป็นอันตราย..ปรัชญาชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนกับบริษัทประกันภัย ปรัชญาชีวิตของพวกเขาเหมือนกับนักไต่เขา นักขับเครื่องร่อน ..นักโต้คลื่น..ซึ่งมิใช่การโต้คลื่นที่อยู่ข้างนอกเท่านั้น..แต่มันเป็นการโต้คลื่นที่อยู่ภายในตัวตนของเขา พวกเขาไม่ได้ไต่เทือกเขาอยู่ที่ภายนอก..พวกเขาไม่ได้ไต่ภูเขาแอลป์...ไม่ได้ไต่ภูเขาหิมาลัย พวกเขาค้นหาจุดสูงสุดของชีวิตภายในตัวของพวกเขาเอง..”
ด้วยหลักคิดที่เชื่อมโยงต่อเนื่องถึงกันของ “OSHO” เราจะพบ..มิติของความ “เด็ดเดี่ยว” ต่อการนำพาและสร้างความหมายต่อชีวิตอย่างเป็นกระบวนการ มีองค์ประกอบที่ลึกซึ้งและแยบยลต่อการสัมผัสรู้ภายในอันลึกซึ้งและเต็มไปด้วยนัยประโยชน์แห่งการชุบชูจิตใจ..ผ่านบทตอนแห่งการแปลความและตีความ นับจาก..ประเด็นคำถามที่ว่า “ความกล้าคืออะไร?”
ผ่านข้ามไปจนถึงนัยความคิดต่างๆ อันหลากหลายที่มีที่มาจากความโดดเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็น..ประเด็นที่ว่า.. “เมื่อสิ่งใหม่มาเคาะประตูจงเปิดรับมัน” ..หรือในประเด็นสำคัญอื่นๆอีกอย่างเช่น “ความกล้าที่มาจากความรัก” หรือการดึงตัวออกมาจากฝูงชน..ไปจนถึง..การดึงตัวออกมาความกลัว และจบลงด้วยปริศนาสำคัญที่ว่า..จงมีชีวิตอย่างเบิกบานไปโดยตลอด..จะได้ไหม?..!
โดยพื้นฐานแล้ว..ความกล้าหาญคือความเสี่ยง..เสี่ยงจากสิ่งที่รู้จักไปยังสิ่งที่ไม่รู้จัก เสียงจากสิ่งที่คุ้นเคยไปยังสิ่งที่ไม่คุ้นเคย จากความไม่สะดวกสบายไปยังความสะดวกสบาย จากการเดินทางที่มีเป้าหมายไปสู่การเดินทางที่ไร้เป้าหมาย โดยไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่..มันไม่ต่างอะไรกับการวางเดิมพัน แต่พราะการเดิมพันในครั้งนี้เท่านั้นที่จะทำให้เรารู้ว่า
... “ชีวิตคืออะไร? แต่จงจำไว้ว่าความกล้าหาญนั้นไม่มีความกลัว "หากใครก็ตามไร้ซึ่งความกลัว ก็ไม่อาจบอกได้ว่าเขากล้าหาญ” ..เนื่องเพราะความกล้าหาญเกิดขึ้นได้ในมหาสมุทรแห่งความกลัวเท่านั้น..ความกลัวอยู่ ณ ที่ตรงนั้น แต่แทนที่จะจมอยู่กับความกลัว..คนบางคนก็กล้าที่จะเสี่ยง..เเละนั่น คือ “ความเด็ดเดี่ยว”
เด็ดเดี่ยว... “เบิกบานกับการมีชีวิตอยู่อย่างอันตราย” (Courage )..แปล และ ถอดความเป็นภาษาไทยด้วยจิตวิญญาณแห่งความเข้าใจอันลึกซึ้งโดย.. “ดร.ประพนธ์ ผาสุกยืด” นับเป็นหนังสือที่มีค่า และ สมควรอย่างยิ่งที่จักต้องอ่านเพื่อศึกษา ถึงปัจจุบันขณะที่โลกแห่งจิตวิญญาณของมนุษยชาติกำลังถูกทำลายลงจนสิ้นสภาพ สถานะของชาวโลกส่วนใหญ่ ณ วันนี้..ไม่ต่างไปจากผู้หลับใหลที่ไร้โอกาสอันดี กระทั่งไม่มีแม้แต่ผู้ปลุกให้ตื่น..พวกเขาจึงคล้ายดั่งตายทั้งเป็น ไม่สามารถสร้างความหวัง หรือหลับฝันถึงสิ่งดีงามใดๆของชีวิต..
มีเพียง..สำนึกคิดและความรู้สึกหาญกล้าอันเด็ดเดี่ยวเท่านั้น..ที่จะทำให้ชีวิตมีโอกาสรอดจากพิษภัยและอุปสรรคนานาของยุคสมัยที่โหมเข้าสาดซัด..ดั่งนี้..สถานะแห่งความเป็นปัจเจกของการรู้ตัวทั่วพร้อมจึงนับว่าสำคัญยิ่งต่อการมีชีวิตรอดในชะตากรรมของวันนี้..
แน่นอนว่า..ชีวิตพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียวของการมีชีวิต และ “ความเด็ดเดี่ยว” คือความเข้มข้นอันแรงกล้าของการมีชีวิตอยู่..แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะหนึ่ง..แต่ก็ทรงอานุภาพและทรงคุุณค่ายิ่งกว่าความเป็นนิรันดร์ทั้งมวล..!
“ปิดสวิตช์ไฟ ความมืดก็จะปรากฏ เปิดสวิตช์ไฟ ความมืดก็จะหายไป ท่านสามารถทำอะไรกับแสงสว่างได้ แต่ท่านไม่สามารถทำอะไรกับความมืดได้เลย..”