“ชัยธวัช” ซัด “กกต.” อย่าตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย สอน “ยุบพรรคการเมือง” ไม่ใช่เล่นขายของ ถามกลับคำสั่งศาลผูกพันใคร ย้ำสั่งให้ “พิธา-ก้าวไกล“ เลิกการกระทำแค่นั้น อุบตอบจะดำเนินคดีกลับ ขอรอให้จบกระบวนการพิจารณาก่อน
วันที่ 13 มิ.ย. 2567 เวลา 15.00 น.ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายปกรณ์ มหรรณพ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวชี้แจงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล ว่า ตนเข้าใจว่า กกต. กำลังจะบอกว่า การยุบพรรคการเมืองนั้น มี 2 ช่องทาง คือ 1.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งก็เป็นเรื่องของ กกต. ที่หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ก็สามารถยื่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวน สามารถใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ ที่จะยื่นคำร้อง 2.มาตรา 93 ซึ่งเป็นเรื่องของนายทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับ กกต. หากมีความปรากฏว่า พรรคการเมืองกระทำผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็ให้ไปสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบที่ออกไว้ นี่คือสิ่งที่ กกต. กำลังสื่อสาร ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหา เพราะกระบวนการที่จะยื่นยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว “การอ่านกฎหมาย อย่าไปตีความแบบศรีธนญชัย กฎหมายเขียนลำดับไว้อย่างชัดเจน”
นายชัยธวัช กล่าวยืนยันว่า กกต.เอง เป็นคนบอกพรรคการเมืองมาโดยตลอด อย่างที่ตนได้อ้างเอกสารของ กกต. ในการอบรมพรรคการเมือง เขาไม่ได้บอกว่า การยุบพรรคตามมาตรา 92 แต่ไม่ได้บอกว่า การยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ซึ่งตามระเบียบมีช่องทางเดียวเท่านั้น กกต. ไม่เคยอธิบายตรงไหนเลยมาก่อนว่า นอกจากช่องทางนี้แล้ว วันดีคืนดี กกต. เห็นว่าตัวเองมีหลักฐาน ก็สามารถยื่นคำร้องได้เลย โดยไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวน เป็นไปได้หรือไม่
”เจ้าหน้าที่ตำรวจเจอคนขโมยของทำผิดซึ่งหน้า ยังต้องจับกุมไปดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการสอบสวนส่งอัยการ นี่ยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่เล่นขายของ กกต.ยืนยันว่าทำได้ เพราะในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติได้ทำแบบนี้มาแล้ว ซึ่งคือไม่ได้ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงตามมาตรา 93 และไม่ได้วินิจฉัยว่ากระบวนการคำร้องของ กกต. ชอบหรือไม่”นายชัยธวัช กล่าว
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ขณะนั้น กกต. ยังไม่เคยมีการออกระเบียบสำหรับการยุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะมาก่อน เลยอาจจะพอถูไถกันไปได้ เพราะคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องกระบวนการคำร้องชอบหรือไม่ เกิดขึ้นหลังจากนั้น ซึ่งคือคดียุบพรรคอนาคตใหม่ โดยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องทำประกอบกับมาตรา 93 และระเบียบของ กกต. เพียงแต่ ณ ขณะนั้น ระเบียบเก่าไม่ได้บังคับให้ กกต. รวบรวมข้อเท็จจริง และแจ้งให้กับพรรคผู้ถูกร้องทราบก่อน เพื่อให้มีการต่อสู้ชั้นต้นของ กกต.ก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ระเบียบที่ใช้ให้ไปใช้อีกระเบียบหนึ่งในการไต่สวนสอบสวนคดีอาญา โดยอนุโลม กกต. ให้ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อ มองว่า กกต. ชี้แจงแบบนี้ก็ไม่เป็นไร คงเป็นประเด็นที่ต้องไปต่อสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนกรณีที่ กกต. ยึดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 ม.ค.2567 ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ กกต.ไม่อาจจะทำอย่างอื่นได้นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า คนละเรื่อง นั่นคือเรื่องของพยานหลักฐาน การมีพยานหลักฐานที่ กกต.เชื่อแล้วว่าเพียงพอ ไม่ได้หมายความว่า กกต.ไม่จำเป็นต้องทำกระบวนการรวบรวมหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด อย่าสับสนระหว่าง กกต. เห็นว่า พยานหลักฐานมีน้ำหนักหรือไม่
”ที่ กกต. อ้างว่าคำวินิจฉัยที่แล้ว ผูกพัน ผมอยากถามว่า อะไรผูกพัน คำวินิจฉัยตามมาตรา 49 ในคำวินิจฉัย 3/2567 ผูกพันใคร นี่คือการวินิจฉัยสั่งการให้การกระทำ คือสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เลิกการกระทำสองการกระทำ คือเลิกแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ให้ยกเลิก 112 และห้ามไม่ให้มีการแก้ไข 112 ด้วยกระบวนการนิติบัญญัติโดยมิชอบ นี่คือผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพัน ซึ่งผูกพันกับคนที่ถูกร้อง“นายชัยธวัช กล่าว
เมื่อถามว่า หากพิสูจน์ทราบว่า กกต. ยื่นคำร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริง จะมีการดำเนินคดีกับ กกต. อย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า อย่าพึ่งพูดไป รอให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก่อน