“กมธ.นิรโทษฯ” เคาะตั้ง “คกก.กลั่นกรองคดี” เหตุขอบเขตยาวนานเกือบ 20 ปี-สถานการณ์ซับซ้อนกว่าในอดีต แต่ยังไม่ชี้ชัดจะมีใครเข้าร่วมบ้าง

วันที่ 13 มิ.ย.2567 เวลา 16.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นายวุฒิสาร ตันไชย รองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ. นิรโทษกรรม สภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกรรมาธิการวิสามัญฯ ว่า วันนี้ที่ประชุมได้รับทราบและเห็นชอบ 7 ประเด็นที่คณะอนุกรรมธิการศึกษาและจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสนอมา ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ เคารพความเห็นของคณะอนุกรรมาธิการฯ และนำเอามาเป็นสารตั้งต้นในการพิจารณา แต่ไม่ได้แปลว่าจะเห็นด้วยกับทั้งหมดทุกเรื่อง และที่ประชุมได้ข้อยุติว่าในการนิรโทษกรรมคราวนี้จำเป็นต้องมีกลไกของคณะกรรมการกลั่นกรอง โดยขอบเขตระยะเวลาในการนิรโทษกรรมค่อนข้างยาว ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ดังนั้นเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงการกระทำของบุคคลที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมก็มีความหลากหลาย อีกทั้งในอดีตฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมก็เพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต ผู้ที่เข้าข่ายก็อาจมีหลายความผิดและหลายคดี ซึ่งมีฐานมาจากกฎหมายหลายประเภทและในช่วงโควิด-19 ก็มีกฎหมายพิเศษเข้ามาอีก

“การที่จะนิรโทษกรรมไปเลยโดยไม่มีการกลั่นกรอง อาจจะทำให้ความยุติธรรมไม่สมบูรณ์ จึงมีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่ช่วยพิจารณาข้อเท็จจริง และรับคำอุทธรณ์ของผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายรับการนิรโทษกรรมด้วย ส่วนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา ซึ่งคิดว่าเรื่ององค์ประกอบน่าจะตามมาภายหลังบทบาทของคณะกรรมการชัดเจนแล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าร่างกฎหมายจะเห็นด้วยตามนี้”นายวุฒิสาร กล่าว

นายวุฒิสาร กล่าวอีกว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับภาคประชาชน ที่มีกาาเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยนั้น ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ รวมถึงข้อคิดเห็นที่มีผู้ส่งเข้ามา ทางคณะกรรมาธิการฯ รับฟังทั้งหมด แต่หน้าที่สำคัญคือการให้คำตอบกับสภาในการศึกษาแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม