วันที่ 13 มิ.ย.67 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการผ้าไหมมัดหมี่ในพื้นที่ เพื่อมารับทราบข้อมูลการผลักดันให้เป็นสินค้าแฟชั่นซอฟต์พาวเวอร์ประจำจังหวัด และต่อยอดไปสู่ระดับประเทศ โดยพิพิธภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ศูนย์สิ่งทอ ชินไหมไทย ได้ดำเนินการจัดสร้างโดยตระหนักถึงภารกิจและหน้าที่ ที่จะต้องอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมและเผยแพร่ ผ้าไหมมัดหมี่ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ให้คงอยู่สืบไป ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ งานศิลปาชีพด้านผ้าไหม เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ จัดตั้งโดย ครูสุระมนตรี ศรีสมบูรณ์ หรือครูชิน ซึ่งเคยได้รับรางวัลในฐานะผู้ผลิตผ้ามัดหมี่ที่ดีที่สุดในโลก จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซึ่งเป็นคนไทยคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้อีกด้วย

โดยน.ส.แพทองธาร  ได้เดินชมวิธีการทอผ้าไหมหมี่ตั้งแต่เริ่มกระบวนการถึงการตัดเย็บพร้อมกับเดินดูพิพิธภัณฑ์ที่นำผ้าลายต่างๆในภาคอีสานมาจัดแสดง ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองของชาวบ้านที่มาต้อนรับ 

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า อยากให้ครอบครัวของคนในพื้นที่ได้สืบทอดงานฝีมือต่อไป ทางคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ซึ่งเรื่องผ้าไหมเป็นเรื่องที่หาได้ยากเป็นสิ่งที่ทำได้เฉพาะพื้นที่ ตนเองพร้อมสนับสนุนงานของชาวบ้านทั้งประเทศ และขณะนี้กำลังดำเนินการโครง OFOS หรือ One Family One Soft Power (1 ครอบครัว 1 Soft Power) เพื่อส่งเสริมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยไปทั่วโลกโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาคน โดยจะเฟ้นหาศักยภาพของคนไทยทุกครอบครัว อย่างน้อยครอบครัวละ 1 คน เพื่อนำมาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ ผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะให้มีความชำนาญมากขึ้น เพื่อจะกลับไปสร้างรายได้ให้พ้นขีดความยากจนต่อไป

จากนั้นคณะฯ ได้ เดินทางมาชมการผลิตข้าวแตนพันหน้า ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านโคกสว่าง อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ด้านอาหาร โดยทำการชมการผลิตข้าวแตนพันหน้าซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้กับ อ.แวงใหญ่ ด้วยการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยเฉพาะข้าว และรับฟังการบรรยายของประธานกลุ่มฯ ที่ต้องการให้ช่วยเหลือให้นำสินค้าจากท้องถิ่นได้ไปจำหน่ายยังทั่วโลก เพื่อให้ชาวบ้านได้พ้นจากความยากจน เมื่อรับฟังการบรรยายเรียบร้อย ได้เดินทางเข้าไปชมในโรงผลิตเพื่อชมกระบวนขั้นตอนในการทำข้าวแตนต่อไป