“สมศักดิ์” ยกคณะ สธ. ลุยเชียงใหม่ ผลักดัน สาธารณสุขอำเภอ-อสม. ขับเคลื่อนแพทย์ปฐมภูมิ ช่วยคัดกรอง-รักษาเบื้องต้น หวังลดคนเข้ารับรักษาแน่นโรงพยาบาล พร้อมคิกออฟโครงการพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย Low dose CT หลังพบข้อมูล ผู้ป่วยภาคเหนือ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด เฉลี่ย 1,800 รายต่อปี
วันที่ 13 มิถุนายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง และขับเคลื่อนอำเภอสุขภาพชีวียั่งยืน โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ อสม. เข้าร่วมกว่า 500 คน ที่โรงแรมคุ้มภูคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดนโยบาย 5+5 เร่งรัด พัฒนา สานต่อ โดยจะเร่งรัดดำเนินการ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว 2.แก้ไขปัญหายาเสพติด 3.การแพทย์ปฐมภูมิ 4.เศรษฐกิจสุขภาพ 5.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ และสานต่อนโยบายสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1.ครงการพระราชดำริ โครงการเฉลิมพระเกียรติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ 2.สร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร 3.ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต 4.สถานชีวาภิบาล และ 5.ทำให้ทุกคนปลอดภัย ดังนั้น การสนับสนุนการดำเนินงานสาธารณสุขระดับพื้นที่ จึงสำคัญมาก ที่จะทำให้นโยบายดังกล่าว ทั้ง 5 ประเด็นเร่งรัด และ 5 ประเด็นสานต่อ ขับเคลื่อนได้อย่างยั่งยืน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมหลักสูตร เสริมสร้างศักยภาพ ผู้บริหารสาธารณสุขอำเภอระดับสูง ให้เป็นพี่เลี้ยงด้านสุขภาพ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การพัฒนางานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ รวมถึงขับเคลื่อนโครงการอำเภอสุขภาพดีชีวียั่งยืน ซึ่งโครงการดังกล่าว จะช่วยสร้างสุขภาพที่ดี ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน มุ่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม กินดี จิตดี สัมพันธภาพดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยงานของกระทรวงสาธารณสุข ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาธารณสุขอำเภอ ที่เป็นผู้บริหารระดับพื้นที่ ที่จะขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และพัฒนาอำเภอสุขภาพดีชีวียั่งยืน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชนต่อไป
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่เน้นย้ำคือการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะมีส่วนสำคัญในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด โดยสาธารณสุขอำเภอ ก็จะช่วยคัดกรองกลุ่มผู้ป่วยตามสี ซึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่แดง-ส้ม ก็ต้องเข้ารับการบำบัดที่โรงพยาบาล ส่วนระดับรองลงมา ก็สามารถบำบัดรักษาในชุมชนได้ ดังนั้น ต้องช่วยทำความเข้าใจว่า ใครมีอาการ ก็ให้รีบส่งเข้ารับการบำบัด โดยเรื่องนี้ ตนขอย้ำว่า จะพยายามดำเนินการให้การทำงานเข้าเป้าหมายให้ได้
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นกิจกรรมสาธารณสุขระดับอำเภอ ซึ่งได้มีการมอบรางวัลอำเภอที่ผ่านเกณฑ์ โดยมีประมาณ 1 ใน 3 ของอำเภอทั้งประเทศ หรือ 300 อำเภอที่ได้รับรางวัล ซึ่งจากนี้ จะเตรียมปรับแนวทางการขับเคลื่อนแพทย์ปฐมภูมิ และใช้กลไกที่สำคัญคือ อสม. ที่สามารถช่วยประชาชนตรวจคัดกรองเบื้องต้น เช่น ตรวจอุณหภูมิ เบาหวาน โดยที่ผ่านมา มีอำเภอตัวอย่างขับเคลื่อนแพทย์ปฐมภูมิ ได้ผลเป็นอย่างดี ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีประชาชนมารักษาพยาบาล 304 ล้านคน/ครั้ง ตนก็พยายามรักษาระดับไม่ให้มากไปกว่านี้ จึงขับเคลื่อนแพทย์ปฐมภูมิ ที่จะช่วยคัดกรองในเบื้องต้น
จากนั้น นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ต่อไปยังโรงพยาบาลนครพิงค์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคิกออฟโครงการพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วย Low dose CT นำร่อง เขตสุขภาพที่ 1 โดยมีนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมต้อนรับด้วย
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำหรือโลว์ โดส ซีที (Low dose CT) นำร่องเขตสุขภาพที่ 1 เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุข กำหนดนโยบาย 5+5 เร่งรัด พัฒนา สานต่อ ซึ่งโครงการนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายที่กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งรัดดำเนินการ เพราะคือการเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยจากข้อมูลของกรมการแพทย์ พบว่า โรคมะเร็งปอดเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ พบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรายใหม่ เฉลี่ยประมาณ 2,500 รายต่อปี หรือประมาณวันละ 7 ราย และเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดเฉลี่ย 1,800 รายต่อปี หรือ ประมาณวันละ 5 ราย
“การป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด จะไม่มีสัญญาณเตือนในระยะแรก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ในระยะที่มะเร็งเริ่มแพร่กระจาย ไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกายแล้ว ทำให้รักษาได้ยาก และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ดังนั้น โครงการพัฒนาระบบ การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยโลว์ โดส ซีที ในครั้งนี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะช่วยให้ การค้นหาโรคมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พบเร็วขึ้น รักษาเร็วขึ้น ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต ด้วยโรคมะเร็งปอด และอาจนำไปสู่การบรรจุในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพต่อไปในอนาคต ผมเชื่อว่าโครงการนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 1 และจะสามารถขยายผลความสำเร็จของโครงการไปยังพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว