เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 ทำเนียบรัฐบาล คณะประชาชนทวงความยุติธรรมปี 2553 (คปช.53) และญาติวีรชนคนเสื้อแดง เดินทางมายื่นหนังสือถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการดำเนินการที่เป็นจริงเพื่อทวงความยุติธรรมในกรณีเมษา-พฤษภา 2553 ให้ทันการณ์ในสมัยรัฐบาลนี้ โดยในวันนี้มี นายมงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับหนังสือ 

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า  ด้วย คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 (คปช.53) และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และรักความยุติธรรม มีความประสงค์ให้รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งในปี 2566 มาแล้ว รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาชุดใหม่ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมกันคืนความยุติธรรมจากการปราบปรามประชาชนในปี 2553 และยุติการทำรัฐประหาร และการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชน เรามีความเห็นว่า

1. เราเห็นด้วยที่มีการดำเนินการเพื่อนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ต้องถูกจำชังโดยไม่ได้ประกันตัวและรับโทษเกินกว่าที่ควรจะเป็น ในคดีที่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองซึ่งไปถือเป็นคดีความมั่นคง เราขอสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมในคดีความการเมือง รวมทั้งกรณี มาตรา 112 ซึ่งเป็นผลพวงการรัฐประหารปี 2519

2. เราไม่เห็นการขยับตัวของรัฐบาลและพรรคการเมือง ในการทวงความยุติธรรมให้คนตาย เพื่อเป็นการยุติการลอยนวลพันผิดของอาชญากรรมต่อประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ถือเป็นการปรับโครงสร้างกระบนการยุติธรรม ไม่ให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งก่อรัฐประหารรอบที่ผ่านมา เพื่อยุติคดีความที่จะลุกลามถึงคณะผู้ปราบปรามประชาชน ตรงข้ามกลับดำเนินคดีความทั้งกับฝ่ายรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ และฝ่ายประชาชนที่ถูกคณะตนปราบปรามเข่นฆ่าหลั่งเลือดนองแผ่นดิน

ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาที่กองทัพและเจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามประชาชนแล้วพันผิดลอยนวล และแก้ปัญหาการทำรัฐประหารได้ด้วย จึงเห็นควรให้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและรัฐบาล ได้ดำเนินงานตามกฎหมายในข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเรา คือ

1. การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเร่งรัดคดีความตามกฎหมาย
2. การแก้กฎหมายให้ทหารและนักการเมือง เมื่อทำความผิดอาญาต่อประชาชน ให้ขึ้นศาลพลเรือน โดยการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระธรรมนูญศาลทหาร, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม,พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3. การลงนามให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ มีอำนาจสอบสวนและดำเนินคดีเฉพาะกรณี มษา-พฤษภา 2553 เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนคนไทยได้

นี่เป็นการเรียนมาอีกครั้งหลังจากที่พรรคทั้งหลายได้รับรู้ข้อเสนอของเราตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง

ดังนั้น หนังสือที่เรามอบให้คือข้อมูลที่เราได้ปรับปรุงเพื่อให้ท่านได้ทำงานได้โดยเร็ว หวังว่าท่านจะดำเนินการก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปสำหรับรัฐบาลและระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย