การเมืองไม่นิ่ง-เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าทุบดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าพ.ค.วูบ 3 เดือนติด-ต่ำสุดรอบ 7 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,245 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน พ.ค.67 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 60.5 จากเดือน เม.ย.67 อยูที่ระดับ 62.1 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ค.66 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 57.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.8 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือน ทุกรายการ

โดยปัจจัยลบ ได้แก่ 1.ความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ที่มีข่าวด้านต่าง ๆ ออกมา ทำให้คนส่วนใหญ่กังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล 2.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 67 ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พร้อมทั้งปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 67 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้าว่าจะขยายตัวได้ 2.7% 3.ความกังวลจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้มีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 4.ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ระดับ 32.94 บาท/ลิตร สิ้นเดือน เม.ย. 67

5.SET Index เดือน พ.ค. 67 ปรับตัวลดลง 22.29 จุด จาก 1,367.95 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 เป็น 1,345.66 ณ สิ้นเดือน พ.ค.67 6.ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 36.789 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 67 เป็น 36.636 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน พ.ค. 67 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ 7.ความกังวลต่ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่รัฐบาลจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น 8.ความกังวลจากปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งบางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วม ซึ่งจะสร้างความเสียหายปริมาณผลผลิตทางการเกษตร 9.ความกังวลในเรื่องของต้นทุนปัจจัยการผลิต-การเกษตรของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ 1.ภาครัฐดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.ภาครัฐออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรอง 55 จังหวัด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-30 พ.ย.67 3.นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น 4.ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น 5.การส่งออกของไทยเดือน เม.ย.67 ขยายตัว 6.81% มูลค่าอยู่ที่ 23,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.35% มีมูลค่าอยู่ที่ 24,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,641 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

6.ความหวังของประชาชนจากการมีสัญญาณของการขึ้นค่าจ้างงาน และเริ่มจะมีในการจับจ่ายใช้สอยที่กลับมามากขึ้น แต่ยังคงมีการระมัดระวังการเลือกซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 7.ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ทุเรียนไทย ถึงช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว เริ่มทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้มีรายได้เพิ่มขึ้น 8.ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 1.5 และ 2.2 บาท/ลิตร อยู่ที่ระดับ 37.78 และ 38.15 บาท/ลิตร

ทั้งนี้ภาคธุรกิจได้เสนอแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดังนี้ การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทย,แนวทางการดูแลค่าแรงของประชาชนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ และไม่ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานในภาคธุรกิจขนาดเล็ก,มาตรการกำกับจัดสรรแก้ไขปัญหาน้ำที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคเกษตร-อุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ,แนวทางการสนับสนุนให้มีการลงทุนภายในประเทศกับนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้น,มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง Low Season เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่คึกคักขึ้น,การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.0,ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.9 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.1,ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 57.7 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 57.8,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 53.6 ลดลงจากเดือนเม.ย.ซึ่งอยู่ที่ 53.9,ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 55.2 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 55.4,ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 54.5 ลดลงจากเดือนเม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 54.6

#ข่าววันนี้ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ดัชนีเชื่อมั่น #หอการค้า #ราคาพลังงาน #ค่าครองชีพ