วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และในฐานะนักกฏหมาย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เลขรับที่ 251 /2567 ในฐานะบุคคลหนึ่งของปวงชนชาวไทย ต้องการปกป้องเขตอธิปไตยทางทะเลบริเวณเกาะกูดอ่าวไทยเนื้อที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร(16ล้านไร่)และผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติมูลค่า 20 ล้านล้านบาทของไทยในทะเลอ่าวไทย ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 25 และ มาตรา 43 (2) ซึ่งผู้ร้องได้ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและอาจจะได้รับความเสียหายโดย มิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธินั้นยังคงมีอยู่จากการกระทำของ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ผู้ถูกร้องที่ 1 และ กระทรวงการต่างประเทศ ผู้ถูกร้องที่ 2ในการนำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ “MOU 2544” ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนำมาใช้เป็นเครื่องมือมาดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทย และแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติในทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา
โดยก่อนยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยฉบับนี้ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณายื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ และหากผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในเวลา 60 วันนับแต่วันที่รับคำร้อง ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ผู้ร้องจะมีสิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ปรากฎว่าผู้ตรวจการแผ่นดินยังมิได้ดำเนินการยื่นคำร้องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่ง ดังนี้
1. พิจารณาวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองในการนำ “MOU 2544” ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและ แบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา เป็นการกระทำละเมิดสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยมาตรา 25 และมาตรา 43 (2) ผู้ร้องถูกผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการละเมิดสิทธิของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญโดยตรงและทำให้ผู้ร้องอาจได้รับความเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการถูกผู้ถูกร้องทั้งสองละเมิดสิทธิ และการถูกละเมิดสิทธิของผู้ร้องนั้นยังคงมีอยู่
2. พิจารณาวินิจฉัยว่าบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544 )หรือ “MOU 2544” เป็นหนังสือสัญญาที่กระทำการโดยไม่ได้ขอความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเป็นบทบัญญัติใดหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตั้งแต่เริ่มแรก ตามหลักการเรื่อง “ความไม่สมบูรณ์แห่งสนธิสัญญา” (Invalidity of Treaties) ซึ่งบัญญัติไว้ในอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฏหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969
3. มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของผู้ร้อง โดยให้เลิกการนำ “MOU 2544 ” ที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยของไทยทางทะเลอ่าวไทยและแบ่งผลประโยชน์ทรัพยากรพลังงานธรรมชาติทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา
ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องและเอกสารประกอบ พร้อมสำเนาจำนวน 9 ชุด รวม 10 ชุด เอกสารจำนวน 1,890 แผ่น ต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้วในวันนี้