กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ) ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ., พ.ต.อ.อภิชน เจริญผล, พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์, พ.ต.อ.จักรกริช เสริบุตร รอง ผบก.ปอศ., ว่าที่ พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ., พ.ต.ท.นนทพัทธ์ ยอดแก้ว, พ.ต.ท.ภาสกร นภาโชติ, พ.ต.ท.ณธัชพงศ์ สินสิริยานนท์ และ พ.ต.ท.ชวลิต น้ำใจสัตย์ รอง ผกก.3 บก.ปอศ.
เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย ว่าที่ พ.ต.ท.วรพจน์ ลลิตจิรกุล สว. กก.3 บก.ปอศ., ร.ต.อ.ศิการ ไม้คู่ รอง สว.(ป.) กก.3 บก.ปอศ., พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.3 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม ผู้ต้องหา 3 ราย
1. นายปรินทร ฯ อายุ 19 ปี ตามหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 18/2567 ลง 9 พ.ค.67 ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
สถานที่จับกุม บริเวณหน้าอพาร์ทเม้นท์ ในซอยลาดพร้าววังหิน 67 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
2. นายสุไลมาน ฯอายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ จ.703/2567 ลง 8 พ.ค.67 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” และหมายจับศาลจังหวัดราชบุรี ที่ 109/2567 ลง 1 เม.ย.67 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกง, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น, เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตนโดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้องโดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด”
สถานที่จับกุม ท่าจอดเรือ ท่าจีนยูเนี่ยน พอร์ต อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
3. น.ส.กนกกาญจน์ ฯ อายุ 49 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ จ.705/2567 ลง 8 พ.ค.2567 ในความผิดฐาน “ฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”
สถานที่จับกุม หน้าศูนย์กระจายสินค้า พื้นที่ ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
พฤติการณ์ สืบเนื่องจาก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ดำเนินการระดมกวาดล้างอาชญากรรมเกี่ยวกับการหลอกลงทุนออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตามปฏิบัติการ Anti Online Scam (AOC) ได้มีการดำเนินการตามนโยบายของศูนย์ AOC จับกุมผู้ต้องหาที่มีพฤติการณ์เกี่ยวกับแก็งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 3 ราย ดังต่อไปนี้
1. นายปรินทร ฯ ตามหมายจับศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 18/2567 ลง 9 พ.ค.67 จับกุมได้ที่ บริเวณหน้าอพาร์ทเม้นท์ ในซอยลาดพร้าววังหิน 67 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมีการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินมายังบัญชีของผู้ต้องหาเป็นเงินจำนวนเกือบ 1 ล้านบาท ซึ่งผู้ต้องหาได้ให้การเบื้องต้นว่าได้มีการรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารจริง โดยได้รับการว่าจ้างจากคนรู้จักเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่ยังเป็นเยาวชนอยู่ โดยได้รับค่าจ้าง 1,000 บาท
2. นายสุไลมาน ฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ จ.703/2567 ลง 8 พ.ค.67 จับกุมได้ที่ ท่าจอดเรือ ท่าจีนยูเนี่ยน พอร์ต อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีการพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการหลอกลงทุนหารายได้เสริม ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายรวมกันประมาณ 6 แสนบาท ซึ่งผู้ต้องหาได้ให้การเบื้องต้นว่า ได้ให้บัญชีธนาคารกับคนรู้จักในหมู่บ้านไปใช้ โดยไม่ได้รับค่าจ้างแต่อย่างใดโดยหลังจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมพบข้อมูล เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยเมื่อปี 2563 ถูกจับดำเนินคดี 2 คดี ในข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1
3. น.ส.กนกกาญจน์ ฯ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ จ.705/2567 ลง 8 พ.ค. 67 จับกุมได้ที่ หน้าศูนย์กระจายสินค้า พื้นที่ ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีการพฤติการณ์ในการกระทำความผิดคือมีผู้เสียหายได้มาร้องทุกข์ว่ามีเพื่อนของผู้เสียหายขอยืมเงินโดยใช้บัญชีธนาคารของผู้ต้องหาในการรับเงิน ต่อมาเพื่อนของผู้เสียหายได้แจ้งว่าถูกมิจฉาชีพสวมรอยยืมเงินผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงมาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นเจ้าบัญชีธนาคารได้รับเงินจากผู้เสียหาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกไปยังผู้ต้องหายังที่อยู่ 2 ครั้ง ปรากฏว่าไม่สามารถติดต่อผู้ต้องหาได้แต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้ออกหมายจับ ซึ่งผู้ต้องหาดังกล่าว เบื้องต้นให้การว่ามีเงินเข้าและออกในบัญชีธนาคารของตนผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารโดยผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้ใช้งาน ผู้ต้องหาจึงได้แจ้งยกเลิกแอปพลิเคชันธนาคารดังกล่าว ต่อมาเมื่อมีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมายังผู้ต้องหาจำนวน 2 หมาย ผู้ต้องหาก็ไม่ได้ดำเนินการตามหมายเรียกดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมเข้าดำเนินการจับกุม
เตือนภัย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางขอแจ้งเตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนว่า การรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารหรือให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคารของตนเองนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยมีความผิดตาม พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า “เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ พี่น้องประชาชนทราบถึงความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับบัญชีม้า และวิธีป้องกันตนเอง โดยอย่าเปิดบัญชีธนาคารให้กับคนอื่น, อย่าให้ใครยืมใช้บัญชีธนาคาร, หมั่นตรวจสอบบัญชีเป็นประจำ หากพบความผิดปกติ ให้รีบแจ้งธนาคารทันทีเพื่อขอคำแนะนำ และระงับบัญชี, ระวังข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลบัตรประชาชนทั้งด้านหน้า-หลัง, รหัส OPT ของธนาคาร เพราะมิจฉาชีพอาจนำข้อมูลเหล่านั้น ไปเปิดบัญชีม้าได้ และกรณีที่มีหมายเรียกจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจมายังท่าน ขอให้ดำเนินการตามหมายเรียก อย่าละเลยไม่ดำเนินการตามหมายเรียก มิฉะนั้นอาจเป็นเหตุให้ถูกออกหมายจับได้