"รมว.สาธารณสุข" เผยการปรับเกณฑ์ "ยาบ้า" จาก 5 เม็ด เป็น 1 เม็ด ถือเป็นการครอบครอง เพื่อเสพ ชงกฤษฎีกาตรวจแล้ว ก่อนประกาศใช้ คาดเสร็จก่อน 18 มิ.ย.นี้ ขณะร่วมเปิดสัมมนา ”การดื้อยาต้านจุลชีพ” ชี้เป็นปัญหาสำคัญ เสี่ยงทำคนเสียชีวิตเพิ่ม
ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 4 โดยมี Ms.Saima Wazed ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก Ms.Marlene Nilsson รองผู้อำนวยการและรักษาการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นปัญหาที่สำคัญมาก เพราะทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และยังส่งผลกระทบต่อ ภาคการเกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะหากเราไม่ดำเนินการ ในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากกว่า 10 ล้านคน โดยสำหรับประเทศไทย ตนหวังว่า เราจะสามารถลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชนได้ตามเป้าหมาย ลดการใช้ยาต้านจุลชีพในภาคการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งมีการติดตามการปนเปื้อนของเชื้อดื้อยาและยาต้านจุลชีพ ในอาหารและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนไทยมีความเสี่ยงจากเชื้อดื้อยาน้อยที่สุด
"รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และสนับสนุนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ภายใต้สุขภาพหนึ่งเดียว ตั้งแต่ปี 2560 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 โดยการประชุมสัมมนาระดับชาติในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดี ที่ทุกคนจะได้รับทราบทิศทาง ของนโยบายระดับโลก และระดับประเทศ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนข้อมูล เรียนรู้ เพื่อขยายความร่วมมือ"
และเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย เพื่อแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งตนขอขอบคุณ หน่วยงานเจ้าภาพหลัก ทั้ง 4 องค์กร และหน่วยงานเจ้าภาพร่วม รวมทั้งหน่วยงานจากต่างประเทศ ที่สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ของประเทศไทย มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก WHO , FAO , WOAH , และ UNEP
นายสมศักดิ์ ยังได้บรรยายพิเศษเรื่องความมุ่งมั่นและความเป็นผู้นำทางการเมืองกุญแจสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพว่า การดื้อยาต้านจุลชีพ หรือ AMR เป็นวิกฤตร่วมกันของทุกประเทศทั่วโลก หากเราไม่แก้ไขปัญหานี้ จะมีคนเสียชีวิตปีละกว่า 1 ล้าน 3 แสนคน และอาจเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ในอีก 30 ปี ข้างหน้า รวมถึง AMR ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยแพร่กระจายได้ทั้งในคน สัตว์ อาหาร และสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เราทุกคน ตกอยู่ในความเสี่ยง จากการติดเชื้อดื้อยาด้วย
สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนฉบับแรก และเป้าประสงค์ที่เราตั้งไว้ ในแผนฉบับใหม่นี้ มีความสอดคล้องกับร่างเป้าหมายระดับโลก ที่เสนอในร่างเอกสารฉบับแรกของปฏิญญาทางการเมืองเรื่องเอเอ็มอาร์ หลายข้อด้วยกัน เช่น เป้าหมายระดับโลกที่กำหนดว่า ให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มแอ๊คเซส (ACCESS) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ภายในปี 2030 ในส่วนของประเทศไทย เรากำหนดว่า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2027 หรือเป้าหมายเรื่องการลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพ ในภาคการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ ระดับโลกกำหนดไว้ว่า ให้ลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ส่วนของประเทศไทยกำหนดว่า ให้ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2027 เป็นต้น
นายสมศักดิ์ ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ว่า ได้ปรับแก้ยาบ้าจาก 5 เม็ด เหลือ 1 เม็ด มีความผิดโทษฐานครอบครอง โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว ซึ่งนอกจากการปรับลดจำนวนยาบ้าแล้ว ก็จะเน้นในเรื่องการยึดทรัพย์ด้วย โดยหลังจากคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ ขณะนี้ก็กำลังส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาตรวจ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ก็จะประกาศใช้ โดยตนพยายามจะให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 18 มิ.ย.นี้