วันที่ 12 มิ.ย.67 นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี, นาวาอากาศเอก เทพพนม สุวรรณสาร ผู้บังคับการกองบิน 2, นาย นรินทร์ นิ่มวิญญา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลพบุรี, นายยุทธพงศ์ พิชญาภรณ์ ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาลพบุรี, นายพรชัย พงษ์ภู่ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดลพบุรีและ นางสายใจ เลิศวิริยะประภา นายกเทศมนตรีเมืองเขาสามยอด ทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการปรับปรุงขยายอ่างเก็บน้ำเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา อุทกภัย - ภัยแล้ง และสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้อุปโภค – บริโภค  เขตเมืองลพบุรี ในพื้นที่ กองบิน 2 รวมเนื้อประมาณ162ไร่เศษ งบประมาณดำเนินการรวม 43 ล้านบาท 

ซึ่งจังหวัดลพบุรี เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยสำคัญของประเทศ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ซึ่งภาคการเกษตรเป็นภาคการผลิตหลักอันดับต้นของภาคกลาง ทั้งนี้ ในปัจจุบันปริมาณความต้องการใช้น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งจากการกระทำของมนุษย์และจากปัจจัยทางธรรมชาติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของฝนที่ทำให้แหล่งน้ำต้นทุนหลายแห่ง มีปริมาณการกักเก็บน้ำในแต่ละปีลดลงจากในอดีต ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภค บริโภค เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่สุ่มเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา โดยในปี 2562 – 2563 มีสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลต่อแหล่งน้ำดิบในการผลิต น้ำประปา และช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี พื้นที่ชุมชนตำบลเขาสามยอด ตำบลท่าแค และตำบลเขาพระงาม มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำในช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี

นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากปี 2564 จังหวัดลพบุรี ได้ประสบสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้น คลองชัยนาท – ป่าสัก มีปริมาณน้ำน้อยมากจนเกิดผลกระทบกับระบบการผลิตน้ำประปาซึ่งมีผู้ใช้บริการมากโดยเฉพาะยิ่งในเขตอำเภอเมืองลพบุรี ที่มีผู้ใช้ถึง 200,000 กว่าคน โดยในสมัยท่านผู้ว่าลพบุรีท่านก่อน ท่านนิวัฒน์ รุ่งสาคร ได้มีส่วนผลักดันแผนงานให้เกิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาซึ่งในครั้งนั้นได้มองถึง กองทัพอากาศ กองบิน 2 โดยมีการพูดคุยหารือกันระหว่างหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้องจนมาถึงวันนี้เราก็สามารถผลักดันโครงการ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดความจุประมาณ 800,000 ลูกบาศก์เมตร พร้อมแผนงานโครงการระบบผลิตน้ำประปาโดยการประปาส่วนภูมิภาคซึ่งสามารถให้การรองรับการใช้น้ำของประชาชนได้เมื่อเกิดภัยแล้งน้ำแล้ง ประมาณ 14 – 15 วัน ซึ่งจะเป็นหลักประกัน ให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตและมีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ