วันที่ 12 มิ.ย.67 ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการจัดการไฟไหม้ และการจัดการตลาดขายสัตว์ กรณีไฟไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ โดยมี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นางสาวฎายิน เพชรรัตน์ ผู้ประสานงานมูลนิธิ SOS Animal Thailand และนายโรเจอร์ โลหนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย เข้าร่วม
นายชัชชาติ กล่าวว่า จุดเกิดเหตุคือตลาดศรีสมรัตน์ ไม่ใช่ตลาดจตุจักรที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม. แต่ตลาดดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบการรถไฟแห่งประเทศไทย โซนที่เกิดเพลิงไหม้มีทั้งหมด 118 ล็อก และได้รับผลกระทบอีก 15 ล็อก ขนาดล็อกละ 7 ตารางเมตร จำนวนพื้นที่ 1,400 ตารางเมตร ได้รับรายงานเบื้องต้นจากผู้ค้าว่ามีสัตว์เสียชีวิตประมาณ 5,000 ตัว ได้รับแจ้งเหตุเพลิงไหม้เวลาประมาณ 03.55 น. หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยถึงจุดเกิดเหตุภายใน 6 นาที พบเพลิงไหม้เสียหายขณะนั้น 10 ล็อก ก่อนลุกลามและควบคุมเพลิงได้เวลา 04.25 น. อุปสรรคคือ แต่ละร้านที่เกิดเพลิงไหม้ล็อกประตูไว้ ยากต่อการเข้าไปดับเพลิงและช่วยชีวิตสัตว์ที่ติดอยู่ในกรง โดยตลาดดังกล่าวเปิดทำการค้าสัตว์เลี้ยงกว่า 20 ปี มีการต่อสัญญาล่าสุดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
ด้านกฎหมายที่จะใช้ดำเนินการจากนี้มี 3 พ.ร.บ. ที่ผู้ค้าต้องมีใบอนุญาตในการประกอบการ คือ 1.ว่าด้วยเรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ออกใบอนุญาตโดยกรมอนามัย และ กทม. ซึ่งที่ผ่านมา กทม.ไม่เคยออกใบอนุญาตส่วนนี้ให้กับร้านขายสัตว์ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่า การขายสัตว์เป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ จากการสอบถามไปยังกรมอนามัย ได้รับคำตอบเมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 ว่า เป็นกิจการที่อันตรายต่อสุขภาพ 2.ว่าด้วยเรื่อง โรคระบาดสัตว์ ซึ่งออกใบอนุญาตโดยกรมปศุสัตว์ (ใบ ร.10) เชื่อว่าร้านทั้ง 118 ล็อกอาจมีใบอนุญาตไม่ครบทั้งหมด 3.ว่าด้วยเรื่อง ป้องกันและทารุณกรรมสัตว์ ออกใบอนุญาตโดยกรมปศุสัตว์ โดยมอบอำนาจให้ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงานเขต เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นร่วมปฏิบัติการ เมื่อปี 2562
นายชัชชาติ กล่าวว่า จากนี้ไปการค้าสัตว์ต้องขอใบอนุญาตจาก กทม.ว่าด้วย พ.ร.บ.กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีความชัดเจนจากกรมอนามัยแล้ว โดย กทม.จะสำรวจร้านค้าสัตว์ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งมีจุดใหญ่ คือ สนามหลวง 2 และ ตลาดจตุจักร 2 เขตมีนบุรี โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว ครอบคลุมการค้าขาย การเพาะพันธุ์ คาเฟ่แมว อาบน้ำตัดขน และทุกกิจการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 20 ปี ยังไม่เคยมีการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตเรื่องนี้
ในส่วนตลาดค้าสัตว์สวนจตุจักร เขตจตุจักร กทม.ระงับการดำเนินการ เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่อง ป้องกันและทารุณกรรมสัตว์ เพื่อควบคุมการค้าขายให้ได้มาตรฐาน และรักษาสวัสดิภาพของสัตว์ ดังนั้น ร้านค้าสัตว์ในตลาดสวนจตุจักรที่ต้องการเปิดทำการ นอกจากขออนุญาตใช้พื้นที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว จำเป็นต้องขออนุญาตจาก กทม. ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่อง กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ด้วย จึงจะเปิดทำการได้ ซึ่งจะใช้เป็นเกณฑ์ดำเนินการขยายผลกับทุกร้านในพื้นที่ กทม.ต่อไป
รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า ปีที่แล้ว กทม.สำรวจเฉพาะร้านที่ดำเนินการเกี่ยวกับหมา แมว พบมีจำนวน 233 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ แบ่งเป็น ร้านขายหมา แมวทั้งหมด 66 แห่ง มีใบอนุญาต ร.10 จำนวน 30 แห่ง ไม่มี 36 แห่ง ส่วนร้านที่ประกอบการเกี่ยวกับสัตว์ด้านอื่น ๆ เช่น สปา ตัดแต่งขนหมา แมว มีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จาก กทม. 6 แห่ง ไม่มี 227 แห่ง จากนี้ไป จะมีการกวดขันใบอนุญาตทั้ง 2 พ.ร.บ.กับผู้ประกอบการเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหมด
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช กล่าวว่า ก่อนที่กรมปศุสัตว์จะออกใบ ร.10 จะมีการตรวจสอบสภาพความพร้อม และความเหมาะสมเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ ส่วนเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ กำกับโดย พ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่อง การป้องกันและทารุณกรรมสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้แจกคู่มือเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อปรับปรุงให้เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก่อนออกใบรับรองต่าง ๆ ให้ จากนี้ กรมปศุสัตว์จะขอข้อมูลจาก กทม.เกี่ยวกับผู้ค้าสัตว์และดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพ เพื่อนำไปดำเนินการตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต ร.10 ให้ อย่างไรก็ตาม ใบอนุญาต ร.10 ครอบคลุมสัตว์บางชนิด เช่น หมา แมว ส่วนสัตว์ เช่น เต่า ปลา อาจต้องร่วมงานกับกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการนำ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ให้ครอบคลุมสัตว์ที่มีการค้าขายทั้งหมด เพื่อขึ้นทะเบียน เช่น แรคคูน กระรอก เป็นต้น
นางสาวฎายิน กล่าวว่า มูลนิธิมีการผลักดันให้ใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมากว่า 30 ปี ปัจจุบัน ไม่เพียงร้านค้าสัตว์ในพื้นที่ กทม.ที่มีการตรวจพบเท่านั้น ยังมีการค้าสัตว์รูปแบบออนไลน์และอื่น ๆ จำนวนมากที่ยังสำรวจไม่พบ คาดว่ามีจำนวนกว่า 1,000 ร้าน ซึ่งอาจต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดระเบียบ กวดขัน และควบคุมกันใหม่อีกครั้ง เช่น ก่อนที่ร้านใดจะเปิดทำการ กรมปศุสัตว์ควรเข้าไปแนะนำวิธีดำเนินการที่ถูกต้องก่อนออกใบอนุญาต จากนั้นควรมีการติดตามการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ และควรมีการเก็บข้อมูลสัตว์เลี้ยงเพื่อค้าขายให้ชัดเจน จริงจัง
นายโรเจอร์ กล่าวว่า นอกจาก พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อใช้ในการดำเนินการจากนี้ไป ขอให้เพิ่มการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า ปี 2562 ด้วย ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลเกี่ยวกับการค้าขาย การเพาะเลี้ยง การนำเข้า และการดำเนินการเกี่ยวกับสัตว์ทั้งหมดสมบูรณ์ขึ้น จากเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นนานแล้ว เช่น ปี 2530 ปี 2555 เกิดเหตุไฟไหม้ห้างสรรพสินค้า ตลาดจตุจักร เป็นต้น ซึ่งเหตุไฟไหม้พื้นที่สาธารณะเป็นความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ทำให้ประชาชน สัตว์ ต้องเสี่ยงอันตราย โดยตนได้นำข้อเสนอมายื่นต่อผู้ว่าฯกทม.ในวันนี้ เพื่อพิจารณาดำเนินการให้รัดกุมต่อไป โดยหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ไม่เกิดขึ้นอีก เชื่อว่าผู้ว่าฯกทม.สามารถดำเนินการแก้ไขพัฒนาเรื่องนี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ เช่น จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลสุขอนามัยและความปลอดภัยต่าง ๆ ทั้งของสัตว์และคน การติดตั้งระบบป้องกันไฟไหม้ให้ร้านค้า เป็นต้น