กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จับมือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 30 หน่วยงาน ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่อง การดื้อยาต้านจุลชีพ ครั้งที่ 4 ภายใต้ธีม “Save Lives Fight Resistance” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ สถานการณ์การดื้อยาต้านจุลชีพทั้งในประเทศและระดับโลก พร้อมเริ่มต้นขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 อย่างเป็นทางการ

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดงานฯ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดี กรมปศุสัตว์ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. และ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ร่วมในพิธี โดยมีภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพร่วมในครั้งนี้ นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก มาบรรยายพิเศษ และมีวิทยากรทั้งในและต่างประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial Resistance : AMR) เป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพทั้งในประเทศและระดับโลก ที่ส่งผลกระทบต่อคน สัตว์ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเศรษฐกิจ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1.3 ล้านคนทั่วโลก และคาดการณ์ว่าในปี 2593 จะมีคนเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยากว่า 10 ล้านคน โดยที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้สุขภาพหนึ่งเดียวมาตั้งแต่ปี 2560 และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการสานต่อความมุ่งมั่นและความเป็นผู้นำของประเทศในการแก้ปัญหานี้

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลการดำเนินการในช่วงปี 2560-2565 ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดใช้ยาต้านจุลชีพในมนุษย์ 33.6% และในสัตว์ 39.3% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 20% และ 30% ตามลำดับ นอกจากนี้ สมรรถนะของประเทศในการจัดการปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพผ่านเกณฑ์การประเมินขององค์การอนามัยโลก

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า จากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ ปี 2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นเป็น 22.6% ในปี 2564 จากเดิม 17.8% ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้น 4.8% แต่ส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับภาคี รณรงค์สื่อสารต่อสังคมเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพ โดยพัฒนาแคมเปญ “เทรนด์ใหม่ เป็นหวัดเจ็บคอ เช็กให้ชัดว่าเป็นไวรัสหรือแบคทีเรีย จะได้ไม่เกิดเชื้อดื้อยา” รูปแบบคลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Social Marketing Thaihealth by สสส. มีผู้เข้าถึงกว่า 9 ล้านคน รวมถึงเร่งยกระดับการทำงานภาคีเครือข่าย ให้เกิดกลไกเฝ้าระวังในพื้นที่ และพัฒนากลยุทธ์การสื่อสารสร้างความรอบรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในพื้นที่และแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566 -2570 ที่เน้นให้ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและความตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม