ทวี ชี้เป็นสิทธิ ทักษิณ ยื่นขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุด คดีม.112 ได้ แทงกั๊กยื่นฟ้องยุค คสช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คปท.บุกกองทัพบกยื่นหนังสือค้านประกันตัว คดีมาตรา 112 อดีต อสส. โพสต์สวน ทักษิณ ปมถูกฟ้องคดี ม.112 ยันด้วยเกียรติของลูกผู้ชาย ไม่เคยมีใครข่มขู่ โน้มน้าว ชักจูง ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร้องขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ในคดีมาตรา 112 โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนโดนข่มขู่จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงยุติธรรม ต้องสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพราะเป็นส่วนของกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่ากระทรวงยุติธรรมไม่ได้มีอำนาจที่จะเข้าไปพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดในการตัดสิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตามหลักการเมื่อมีการร้องขอความเป็นธรรมต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมคดีทางอาญาจะเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่ายทั้งผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหาสามารถยื่นขอความเป็นธรรมได้ตลอด ไม่มีการห้ามในขั้นตอนใด และอำนาจการพิจารณาเป็นของอัยการสูงสุดเช่นกัน เมื่อถามว่า ลักษณะเช่นนี้ต้องการที่จะเปลี่ยนผู้ทำคดีหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ตนไม่ทราบรายละเอียด และจากที่ฟังโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดว่ายังไม่ได้รับเรื่อง จึงยังไม่เห็นรายละเอียด จึงไม่อยากตอบคำถามสมมติ เพราะอาจจะสับสน ซึ่งที่ผ่านมาการร้องขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุดมีทุกคดี แต่ก็ไม่ได้เป็นข่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้ออ้างที่ว่า คสช.ข่มขู่พนักงานสอบสวนฟังขึ้นหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า หลักใหญ่เรื่องการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบนั้นเป็นหลักสำคัญของคดีอาญาเช่น พนักงานสอบสวนมีอำนาจหรือไม่ หรือพนักงานสอบสวน สอบสวนโดยชอบหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน หรือพยาน หรือส่วนอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการบังคับขู่เข็ญ หรือการกระทำใดๆ เพื่อให้เกิดการจูงใจ ซึ่งเป็นประเด็นสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้
เมื่อถามว่า คดีมาตรา 112 ของนายทักษิณผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจรับเป็นเจ้าภาพในการแจ้งความดำเนินคดีในขณะนั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อำนาจการสอบสวนจะมีแค่พนักงานสอบสวน ทหารไม่ใช่พนักงานสอบสวน และถ้าเป็นคดีพิเศษก็จะเป็นอำนาจของกรมคดีสอบสวนพิเศษ ถือเป็นขั้นตอนตามปกติ เมื่อถามว่า ยืนยันว่า คสช.ใช้ช่องทางตามปกติในการดำเนินคดีกับนายทักษิณใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระบวนการสอบสวนจะเป็นตำรวจหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือคนอื่นไม่มีอำนาจสอบสวน เว้นแต่เป็นเรื่องเฉพาะ การปรับ เรื่องการสอบสวนของ ก.ตร. ก็สามารถดำเนินการได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในสมัยนั้นให้ตำรวจเป็นผู้ยื่นฟ้อง ถือว่าชอบด้วยกฎหมายใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า สรุปไม่ได้ ต้องไปดูว่าเขาจะไปต่อสู้ว่าการสอบสวนมีอำนาจและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในกรณีการบังคับขู่เข็ญ หรือการจูงใจ ถือเป็นการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบ เป็นประเด็นในรายละเอียดแต่ละเรื่องไป
วันเดียวกัน ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นำโดย นายพิชิต ไชยมงคล , นายนัสเซอร์ ยีหมะ ร่วมกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว และกลุ่มกองทัพธรรม นำโดย นายใจเพชร กล้าจน จัดกิจกรรมยื่นหนังสือถึงกองบัญชาการกองทัพบก เพื่อให้คัดค้านการประกันตัวชั่วคราว อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีมาตรา 112
โดยทางผู้ชุมนุมเดินเท้าจากแยกพาณิชย์ ผ่านหน้าวัดโสมนัสฯ เข้าถนนราชดำเนิน มายังหน้า บก.ทบ.ซึ่งระหว่างการเคลื่อนขบวน นายประกอบกิจ อินทร์ทอง ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านเครื่องขยายเสียง ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ เกี่ยวกับประเด็นการคัดค้านการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 รวมถึงจุดประสงค์ของการมายื่นหนังสือที่กองบัญชาการกองทัพบก เพื่อให้กองทัพบกคัดค้านการประกันตัวอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร ในคดีมาตรา 112 โดยยืนยันว่าการทำกิจกรรมของกลุ่มไม่ได้เรียกร้องให้กองทัพออกมาปฏิวัติ
ด้าน นายพิชิต กล่าวว่า ตามที่อัยการสูงสุดมีมติสั่งฟ้องนายทักษิณคดีมาตรา 112 แต่นายทักษิณกลับยื้อเวลาเพื่อขอพิสูจน์ตนเอง ซึ่งเป็นข้อกังวลที่กลุ่มไม่ไว้วางใจ เนื่องจากนายทักษิณเคยหลบหนีคดีมาแล้ว และในขณะเดียวกันยัง กล่าวอ้างว่าตัวเองถูกยัดเยียดข้อหา และอาจพยายามเข้ามาแทรกแซงและยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ จึงขอให้กองทัพบกยื่นคัดค้านการประกันตัวนายทักษิณที่เป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง จากการกระทำหมิ่นต่อสถาบันฯ และยังไม่สำนึกที่ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ กลุ่มจึงต้องการให้กองทัพออกมาดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อทำหน้าที่แทนประชาชนที่จงรักภักดีต่อไป
โดยทางกลุ่มติดตามการเคลื่อนไหวของนายทักษิณโดยตลอด และทราบว่านายทักษิณถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 โดยมีกองทัพบกเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ตั้งแต่ต้น กลุ่มจึงเดินทางมายื่นหนังสือ เพื่อให้กองทัพบกคัดค้านการประกันตัว ในวันที่ 18 มิ.ย.67 เพราะกลุ่มคิดว่าพฤติกรรม เข้าข่ายที่จะเข้าไปแทรกแซงและทำลายหลักฐานต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมเดิม ที่เคยหลบหนีคดีมาก่อน ดังนั้น กลุ่มจึงมีข้อกังวลว่าอาจเกิดความเสียหายต่อรูปคดีหากปล่อยตัวชั่วคราว กลุ่มจึงได้เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้เพื่อให้กองทัพบกคัดค้านการประกันตัวอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อไป
จากนั้นกลุ่มได้ยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการทหารบก ผ่าน พ.ท.ภณกรีช ฤทธีเรืองนาม นายทหารเวรผู้ใหญ่ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จากนั้นเวลา 11.45 น. ยุติกิจกรรมกลุ่มเดินขบวนกลับพื้นที่ชุมนุมที่บริเวณศาลกรมหลวงชุมพรฯ
ด้าน นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.2557 - 30 ก.ย. 2558 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ร้องขอความเป็นธรรม อสส.คนปัจจุบัน ในคดีถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยอ้างประเด็นว่าคดีดังกล่าวมีการข่มขู่ตั้งแต่ในชั้นพนักงานสอสวนโดยผู้บังคับบัญชา และไม่ควรเป็นคดีนั้น
นายตระกูล ระบุว่า ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกผู้ชายว่า ในฐานะเป็น อสส. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีอาญานอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ไม่เคยมีใครข่มขู่ โน้มน้าว ชักจูง ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวน