ศาลฎีกา พิพากษายืนจำคุก  3 อดีตส.ส.พรรคภูมิใจไทย 9 เดือน คดีเสียบบัตรแทนกัน ชี้ไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

    
 เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.67 สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.67 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดี อม.อธ. 6/2566 อัยการสูงสุด (อสส.) โจทก์ ยื่นฟ้อง นายฉลอง เทิดวีระพงศ์ อดีต ส.ส.เขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นายภูมิศิษฏ์ คงมี อดีต ส.ส.เขต 1 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย, นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นจำเลยที่ 1-3  ตามความผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กรณีเสียบบัตร ส.ส. แทนกันในการประชุมสภา
    
 ศาลฎีกาชั้นอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงจำคุก 9 เดือน โดยศาลวินิจฉัยว่า การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ทำนองเดียวกันว่าโทษ 1 ใน 4 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหนักเกินไป เนื่องจากจำเลยทั้งสามมีอายุมากแล้ว จึงขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ฟังไม่ขึ้น
     
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมากเห็นว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มีโทษจำคุก 1-10 ปี การที่ศาลฎีกาวางโทษคนละ 1 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 1 ใน 4 เป็นโทษอัตราต่ำที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุแก้ไขโทษของจำเลย
    
 สำหรับการขอรอลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสาม ไม่ซื่อสัตย์ต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ให้รอลงโทษจำคุก เพื่อให้จำเลยหลาบจำและไม่ให้มีใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
    
 ส่วนคดีนี้ทั้ง 3 คน ถูกกล่าวว่ายินยอมให้บุคคลอื่นเสียบบัตรแสดงตนแทนในการลงมติเรียงตามรายมาตรา ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 วาระที่ 2-3 เมื่อวันที่ 10-11 ม.ค.63 ซึ่งเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่อันสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เข้าลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เหตุเกิดที่อาคารรัฐสภาแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า ผู้คัดค้านทั้งสามฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงิน แผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ขอให้ผู้คัดค้านที่ หยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ศาลฎีการับคำร้องจนกว่าจะมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านทั้งสามพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสามมีกำหนดเวลาไม่เกิน10 ปี ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1,2 หยุดปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2564 ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 พ้นจากการเป็น ส.ส.ก่อนวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว
    
 ต่อมาอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามเป็นคดีอาญาด้วยมูลเหตุเดียวกับคดีนี้ต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานส่วนใหญ่เป็นชุดเดียวกัน เมื่อศาลในคดีอาญาดังกล่าวมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พ.ค.66 แล้ว จึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อโดยไต่สวนพยานผู้ร้องกับไต่สวนพยานผู้คัดค้าน