นายพีรพล กนกวลัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตพญาไท ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบเพิ่มวงเงินผูกพันงบประมาณกรุงเทพมหานครโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแยกสะพานแดง กล่าวความคืบหน้าแนวทางดำเนินการเรื่องนี้ว่า จากการศึกษาของคณะกรรมการพบว่า ตามข้อตกลงและการก่อสร้างทั้งหมด แบ่งเป็น ช่วงที่ 1 ใช้งบประมาณของ กทม. 100% ช่วงที่ 2 ใช้งบประมาณของ กทม.และรัฐบาลคนละ 50% ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ส่วนช่วงที่ 3 ใช้งบประมาณของ กทม.และรัฐบาลคนละ 50% วงเงินรวม 980 ล้านบาท แต่คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้ตัดงบประมาณ 50% ส่วนของรัฐบาลออก ด้วยเหตุผลว่า การก่อสร้างจะบดบังทัศนียภาพอาคารรัฐสภา

 

คณะกรรมการวิสามัญจึงเห็นว่า เหตุผลในการตัดงบประมาณช่วงที่ 3 จำนวน 50% ไม่เพียงพอ เพราะการก่อสร้างดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ 1 และ 2 หากเห็นว่าจะบดบังทัศนียภาพอาคารรัฐสภา ไม่ควรเห็นชอบให้มีการก่อสร้างตั้งแต่แรก รวมถึง ข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นมติของรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นผู้กำหนด กทม.จึงดำเนินการต่อเนื่องมา การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในรัฐบาลชุดนี้ คณะกรรมการวิสามัญเห็นว่าไม่เป็นธรรม และกทม.ไม่มีงบประมาณเพียงพอ

 

ซึ่งปัญหาดังกล่าว ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักโดยไม่มีกำหนด ผู้บริหาร กทม.จึงเสนอสภา กทม.เพื่อของบประมาณเพิ่มเติม 100% ทดแทนงบประมาณส่วนที่รัฐบาลตัดไป เพื่อก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จ เนื่องจากสามารถหาตัวผู้รับจ้างได้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว คือบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แต่ไม่สามารถทำสัญญาได้ เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ

 

ส่วนแนวทางดำเนินการต่อจากนี้ เบื้องต้นคณะกรรมการวิสามัญเห็นว่า แม้การสนับสนุนงบก่อสร้าง 50% ช่วงที่ 3 ของโครงการ จะไม่อยู่ในแผนการใช้งบประมาณ ประจำปี 2567 ของรัฐบาล เนื่องจากเคยมีการเสนอเรื่องนี้เข้าสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว แต่ถูกตัดทิ้ง สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จึงยังไม่มีการนำเรื่องเข้าพิจารณาต่อ แต่ฝ่ายบริหาร กทม.อาจเจรจากับรัฐบาลได้ เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณตามข้อกำหนดเดิม เนื่องจากรัฐบาลสามารถใช้งบกลางในการสนับสนุนทดแทน เพราะโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว และเป็นโครงการต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างแนวกันคลื่นที่เขตบางขุนเทียน ซึ่งรัฐบาลได้ตัดงบประมาณจากข้อกำหนดเดิมเช่นกัน ด้วยเหตุผลว่าจังหวัดข้างเคียงกรุงเทพมหานครยังไม่มีการก่อสร้าง จึงยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน ปัจจุบันแผ่นดินริมทะเลเขตบางขุนเทียนหายไปกว่า 10 กิโลเมตร โดยเรื่องทั้งหมด จะมีการนำเข้าสภากทม.เพื่อรายงานให้ทราบในเดือน ก.ค.นี้