ความก้าวหน้าในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาหมอกควัน PM2.5 ที่หลายฝ่ายกำลังพยายามช่วยกันแก้ไขนับว่ามีความคืบหน้าไปไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น พรบ.อากาศสะอาดที่มีร่างออกมาหลายร่าง หรือ การเตรียมออกมาตรฐานบังคับต่างๆ ที่มุ่งเป้าลดการเผาที่ก่อให้เกิดควัน  โดยภาคเกษตรเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ถูกพาดพิงว่าก่อเกิดมลพิษดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาข้าว ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด 

การตระหนักและคำนึงถึงสุขภาพของสิ่งแวดล้อมและผู้คน สะท้อนออกมาผ่านความชัดเจนในการแก้ปัญหา PM2.5  ซึ่งดูเหมือน “ข้าวโพด” จะมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาดังกล่าวมากกว่าพืชชนิดอื่น  อาจเป็นเพราะข้าวโพด เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตัวหลัก เป็นต้นน้ำของการผลิตอาหารปลอดภัย จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดก่อนส่งเข้าไลน์การผลิตอาหารสัตว์อยู่แล้ว ดังนั้น การพัฒนาต่อยอดให้ตรวจสอบถึงแหล่งผลิตว่าต้องไม่มีการเผาแปลงด้วย จึงเป็นสิ่งที่ทำได้รวดเร็วกว่าพืชชนิดอื่น

แม้จะไม่ใช่ผู้ที่ลงมือเผา แต่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ก็นำจุดแข็งในฐานะผู้ซื้อ มากำหนดเป็นเงื่อนไขการรับซื้อว่าข้าวโพดทุกเมล็ดที่เข้าสู่กระบวนการผลิตต้องยืนยันได้ว่าไม่ได้มาจากพื้นที่รุกป่าหรือผ่านการเผาตอซัง โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่นำร่อง ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมโยงกับดาวเทียม และตรวจจับได้ถึงจุดความร้อนในแปลงปลูกแต่ละพื้นที่ พร้อมการปฏิเสธที่จะรับซื้อทันทีหากพบว่าเกษตรกรกรรายใดใช้วิธีเผาแปลง  

มาตรการในด้านของภาคเอกชน เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความร่วมมือของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ผู้รวบรวมข้าวโพด ที่ลงทะเบียนร่วมมือลด PM2.5 ด้วยกัน แม้จะมีเพียงผู้ประกอบรายใหญ่รายเดียวที่เข้มแข็งเดินหน้าพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ถึงที่สุดก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นต้นแบบที่ดีที่กำลังสร้างให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เดินตาม  

ส่วนภาครัฐ ผู้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยลดการเผาตอซังได้นั้น คงหนีไม่พ้น “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ซึ่งกรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ต่างก็มีการขับเคลื่อนมาตรฐานหลายๆ ตัว  อาทิ “กรมปศุสัตว์” ที่กระตือรือล้นปรับปรุงแนวทางการจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อลดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 โดยตั้งเป้าหมายให้ ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ ไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูก เพื่อสร้างเป็นมาตรฐานด้านการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practice- GAP) พร้อมสนับสนุนให้ โรงงานอาหารสัตว์ทุกแห่ง ทำระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพด เพื่อให้มั่นใจได้จริงๆว่าข้าวโพดที่รับซื้อนั้นไม่ผ่านการเผาแปลง ด้วยการสนับสนุนโครงการ “ไม่เผาเราซื้อ”  เช่นเดียวกับที่ผู้นำอุตสาหกรรมดำเนินการอยู่ 

ขณะที่ “กรมวิชาการเกษตร” ก็เร่งออกประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผา เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 (PM 2.5 Free Plus) ส่วน “สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ” หรือ มกอช. ก็ได้จัดประชุมคณะกรรมการวิชาการ พิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการผลิตพืชแบบไม่เผา โดยเริ่มที่สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พร้อมตั้งเป้าหมายให้เป็น “มาตรฐานบังคับ” ในอนาคต  เกิดเป็นภาพความร่วมมือที่จะสร้างมาตรฐานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติได้จริง 

ในขณะที่เห็นฟากฝั่งหนึ่งตั้งอกตั้งใจแก้ปัญหา มุ่งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน โดยไม่ให้กระทบอาชีพของผู้คนในห่วงโซ่การผลิต ก็กลับได้เห็นอีกฟากฝั่งหนึ่งพยายามบั่นทอน สร้างความแตกแยก ทำแม้กระทั่งสื่อสารข้อมูลบิดเบือนว่า รัฐบาลจะส่งเสริมให้ไทยเป็นผู้นำอาหารสัตว์ หวังสร้างความเกลียดชัง ทั้งที่จริงๆ แล้ว รัฐบาลประกาศผลักดันส่งเสริมอาหารหมา-แมว หรืออาหารสัตว์เลี้ยง

ถึงกับต้องตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนี้ทำไปแล้วได้ประโยชน์อะไร รับเงินสนับสนุนจากใครมาบ่อนทำลายความตั้งใจของคนไทยที่กำลังร่วมมือกันแก้ปัญหานี้อยู่ แทนที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเร่งทำการตรวจสอบย้อนกลับให้ครบทุกราย หรือร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผา … 

คงเพราะพูดแต่ปากมันง่ายกว่าลงมือทำ แต่ไม่ช่วยทำก็ไม่ว่า…ขอแค่ “อย่าเอาเท้าราน้ำ” ก็พอ

โดย : ธนา วรพจน์วิศิษฐ์