สร้างความเป็นปลื้ม ชื่นใจ กันได้บ้าง ให้แก่เหล่าบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่มีความห่วงใยในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน โลกเดือด ที่แม้แต่บิ๊กบอสยูเอ็น คือ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ยังออกมากล่าวขวัญถึง
เมื่อ “องค์การพลังงานระหว่างประเทศ” หรือ “ไออีเอ” อันเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลอิสระ ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ออกมาเปิดเผยรายงานการประเมิน หรือประมาณการ ว่าด้วยการลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือพลังงานเขียว ชนิดต่างๆ ในประเทศทั้งหลายทั่วโลก ตลอดช่วงปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้
ตามรายงานของ “ไออีเอ” ระบุว่า การลงทุนด้านพลังงานสะอาดของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปีนี้ รวมกันแล้ว จะไปแตะที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยมากกว่า 73 ล้านล้านบาท)
โดยจำนวนเม็ดเงินลงทุนข้างต้น เปรียบเทียบแล้วก็มากกว่าการลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลถึง 2 เท่าด้วยกัน
ทั้งนี้ พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลที่ว่า ก็ได้แก่ น้ำมันดิบ หินน้ำมันหรือเชลออยล์ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ส่วนพลังงานสะอาด หรือพลังงานเขียว ได้แก่ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ ก็ยังมีน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่ผลิตจากพืช อย่างน้ำมันปาล์ม ที่ใช้ทดแทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันดีเซล อันเป็นน้ำมันแปรรูป ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ ซึ่งใช้ในเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงเอธานอล ที่ผลิตจากอ้อย ซึ่งใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเบนซิน หรือก๊าซโซลีน ในเครื่องยนต์เบนซิน
เมื่อตามรายงานของไออีเอ ระบุว่า การลงทุนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งมีจำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 2 เท่าของการลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล นั่นก็หมายความว่า การลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลจะมีจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 36.79 ล้านล้านบาท) เมื่อนำการลงทุนด้านพลังงานทั้งสองรูปแบบมารวมกัน ก็จะทำให้โลกเราในปี 2024 นี้ จะมีการลงทุนด้านพลังงานทั้งรวมๆ กันแล้ว อยู่ทีค่ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราวกว่า 110 ล้านบ้านบาท)
จำนวน 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังกล่าว ทางออีเอ ก็เปิดเผยว่า ถือเป็นครั้งแรกของโลกเราเลยทีเดียว ที่มีการระดมเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอกซิล รวมทั้งพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว รวมกัน
รายงานของไอเอีอ ยังระบุแยกย่อยในละเอียดชนิดต่างๆ โดยแบ่งเป็นการทุ่มลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน อาทิเช่น
พลังงานลม ในการผลิตและพัฒนากังหันลมเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
พลังงานแสงอาทิตย์ ในการผลิตและพัฒนาแผลงเซลล์สุริยะ หรือโซลาร์เซลล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนเพื่อการผลิตและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่กำลังเป็นเทรนด์ของรถ หรือยานยนต์ ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึง ณ ชั่วโมงนี้ การลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ การลงทุนด้านการสร้างระบบการจัดเก็บพลังงานเชื้อเพลิงที่ปล่อยมลพิษระดับต่ำอยู่ในหมวดนี้ การพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบฮีทปั๊ม หรือปั๊มผลิตความร้อนสำหรับการผลิตน้ำร้อน ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าฮีทเตอร์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ในการระดมเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานสะอาด หรือพลังงานเขียวข้างต้น ยังรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาด การก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนระบบโครงข่ายต่างๆ เพื่อให้รองรับกับการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย มิใช่ว่าพัฒนาแต่เฉพาะเทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดอย่างเดียว แต่ไม่ได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงข่ายต่างๆ ก็จะไม่สามารถใช้พลังงานสะอาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
รายงานของไอเออี ยังเปิดเผยว่า เม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานสะอาดในปี 2024 นี้ ยังมีจำนวนเม็ดเงินที่แซงหน้าการลงทุนด้านพลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิลในประเทศทั้งหลายของโลกเราเมื่อปี 2023 (พ.ศ. 2566) เป็นครั้งแรกอีกต่างหากด้วย
นายฟาติห์ บิโรล ผอ.ไออีเอ แสดงทรรศนะเกี่ยวกับการที่ประเทศต่างๆ พากันระดมเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานสะอาดจำนวนมหาศาลข้างต้นนั้น ก็มีเหตุปัจจัยมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกเริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับต้นทุนที่เกี่ยวกับพลังงานสะอาดก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการให้ความสำคัญด้านความมั่นคงของพลังงานในอนาคต
นอกจากนี้ ก็ยังมีประเด็นเรื่องการให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพสิ่งแวดล้อม ที่พลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล ก่อปัญหามลพิษ มลภาวะ ให้แก่สิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน โลกเดือด ที่หลายๆ คน แสดงความเป็นห่วงวิตกกังวลกัน รวมถึงเลขาธิการยูเอ็น ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น
รายงานของไออีเอ ยังระบุเป็นรายประเทศและภูมิภาคของโลก ที่ระดมทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานสะอาดด้วยว่า สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศที่ระดมเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานเพื่อให้เกิดคาร์บอนต่ำมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองลงมาได้แก่ จีนที่ทุ่มการลงทุนไป 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อันดับ 3 ได้แก่ สหภาพยุโรป หรืออียู จำนวน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ หรือละตินอเมริกา ที่จำนวน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน ขณะที่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สวนทางแตกต่างจากอินเดีย ที่กล่าวกันว่า เศรษฐกิจกำลังขยายตัวเติบโต ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสภาพอากาศภาวะโลกร้อนอย่างร้ายแรง แต่กลับมีเม็ดเงินลงทุนด้านนี้น้อยมาก หรือแทบจะเป็นศูนย์