ความเคลื่อนไหวการแข่งขันมวยไทยชิงแชมป์โลก 2024  "อิฟม่า ซีเนียร์ เวิลด์แชมเปี้ยนชิพ 2024" ที่เมืองปาทรัส ประเทศกรีซ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม-9 มิถุนายน ซึ่งมีนักกีฬามวยไทยกว่า 1,200 คน จาก 79 ประเทศ ครอบคลุม 5 ทวีปทั่วโลกเข้าร่วมตะบันหมัด โดยนักมวยไทย ส่งนักชกเข้าร่วม 13 รุ่น แบ่งเป็น ชาย 7 รุ่น และหญิง 6 รุ่น และผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศไปล่าแชมป์โลกในวันที่ 9 มิถุนายน ทั้งหมด 5 รุ่น แบ่งเป็นชาย 3 รุ่น หญิง 2 รุ่น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น เป็นวันพักการแข่งขันก่อนเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศหาแชมป์โลกมวยไทย ในวันที่ 9 มิถุนายน สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) นำโดย ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธาน IFMA, สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการ IFMA, เจนิส ลินน์ ผู้อำนวยการด้านกีฬาของ IFMA และ “ดร.หญิง” ดร.สุปราณี คุปตาสา อดีตผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) นำทีมครูมวยไทย นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ เมฆสวรรค์, ดร.เช้า วาทโยธา ครูมวยไทยนานาชาติชื่อดัง นักกีฬา เจ้าหน้าที่ต่างชาติ รวมถึงคณะนักกีฬามวยไทยทีมชาติไทย เดินทางไปทำกิจกรรมไหว้ครูมวยไทย ที่สนามกีฬาโอลิมปิกโบราณ เมืองโอลิมปิกเปีย ประเทศกรีซ ซึ่งเป็นสถานที่กำเนิดไฟโอลิมปิกเกมส์จนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวงการมวยไทยทั่วโลกกว่า 600 คน ก่อนที่สถานีต่อไป สหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) จะนำกีฬามวยไทยศิลปะประจำชาติไทยไปโชว์ และโปรโมทระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่โอลิมปิก ปาร์ก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคมนี้ โดยจะมี บัวขาว บัญชาเมฆ ยอดนักมวยไทยระดับแม่เหล็กของโลก ร่วมคณะไปโชว์ในครั้งนี้ด้วย

สำหรับพิธีไห้ครูมวยไทยดังกล่าวจัดขึ้นเพื่ออุทิศให้กับเทพธิดาในตำนานของกรีกที่ชื่อว่าเฮสเทีย (Hestia) และเพื่อบูชาเทพเจ้าซูส(Zeus) และเทพเฮร่า (Hera) การจุดไฟ ณ หน้าวิหารเทพีเฮร่า ซึ่งวิหารเฮร่า ถือได้ว่าเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในโอลิมเปีย และเป็นหนึ่งในวิหารที่ชาวกรีกให้ความเคารพนับถือที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในกรีซ เดิมนั้นเป็นวิหารของเทพผู้ยิ่งใหญ่ 2 องค์ คือ เฮร่าและซูส ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด จนกระทั่งได้มีการสร้างวิหารเพิ่มอีกหลังสำหรับเทพซูสโดยเฉพาะ วิหารเฮร่าถือได้ว่าเป็นสถานที่สำคัญอย่างมากในการเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโบราณ สถานที่ตรงนี้ถูกเป็นที่ใช้สำหรับการจุดไฟโอลิมปิกสมัยใหม่มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1936 และส่งต่อมรดกนี้มาถึงปัจจุบัน หน้าวิหารเฮร่าจะปรากฏแท่นบูชาแห่งเฮร่า และตรงนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของเปลวไฟโอลิมปิก (Fame) ซึ่งในปัจจุบันก่อนเริ่มการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกทุกครั้ง จะมีพิธีกรรมจุดไฟโอลิมปิก ซึ่งได้กำหนดไว้ในรูปแบบเดียวกับโอลิมปิกโบราณ ซึ่งในสมัยนั้น จะใช้นักบวชผู้สูงศักดิ์ในการจุด ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนมาใช้สตรีบริสุทธิ์ในการทำพิธีจุดไฟ ซึ่งการจุดไฟโอลิมปิกนี้จะถูกจุดขึ้นก่อนหลายวันเพื่อเป็นการบอกว่าอีกไม่นานจะมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้น ซึ่งพิธีกรรมนี้ได้ตกทอดเป็นมรดกโอลิมปิกมาถึงกิจกรรมกีฬาอื่นๆ ทั่วโลก

จากนั้นช่วงบ่ายได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทยชาวต่างชาติที่ผ่านการอบรมมาตรฐานมวยไทย One Standard Muaythai (OSM) เลเวล 1 เพื่อให้ความรู้และทำความเข้าใจศิลปะแม่ไม้มวยไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจาก IFMA เป็นองค์กรมวยไทยเพียงองค์กรเดียวที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) 

โอกาสนี้ IFMA มอบรางวัลให้ ดร.สุปราณี คุปตาสา อดีตผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ในฐานะผู้ที่ร่วมผลักดันส่งเสริมวงการมวยไทยมาอย่างต่อเนื่อง 
"ดร.หญิง" ดร.สุปราณี คุปตาสา อดีตผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) เปิดเผยว่า สถานที่โอลิมเปียเป็นต้นกำเนิดของไฟโอลิมปิกทุกๆ ครั้ง ซึ่งไม่ได้มาง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันของคนวงการมวยไทย เราได้รับอนุญาตกรณีพิเศษให้เข้ามาทำการไหว้ครูมวยไทยซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งต้องขอขอบคุณสมาคมกีฬามวยไทยของกรีซ ขอบคุณ IFMA ที่ทำงานนี้จนประสบความสำเร็จ ตนเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่รักมวยไทย อยากเห็นมวยไทยไประดับโลกรู้สึกปลื้มใจที่เห็นคนวงการมวยไทยทั่วโลกมารวมตัวไหว้ครู ที่กรีซ 

ดร.สุปราณี กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ได้สนองนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนวงการมวยไทยมาโดยตลอดเพราะเราคนไทยอยากเห็นมวยไทยไปโลดแล่นในระดับโลก ประโยชน์ที่ได้รับจากมวยไทยมีมากมายมหาศาล ทุกๆ ครั้งที่ชาวต่างชาติพูดถึงมวยไทยจะนึกถึงประเทศไทย หลังจากนี้เส้นทางของมวยไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป จะไปถึงการได้รับการพิจารณาเข้าบรรจุแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกเกมส์หรือไม่ ก็อยู่ที่คนไทยนั่นแหละว่าจะร่วมมือกันช่วยกันมากน้อยแค่ไหนอย่างไร