"ครม.เศรษฐกิจ" ตั้งเป้าดันจีดีพีปี 67 โต 3% หนุนท่องเที่ยว-เบิกจ่ายงบรัฐ-ดึงลงทุน ตปท.

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.67 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ตั้งเป้าผลักดันจีดีพีปี 2567 ขึ้นไปแตะ 3% จากคาดการณ์ 2.4% โดยปักธงเร่งผลักดัน 3 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ท่องเที่ยว-เบิกจ่ายงบภาครัฐ-ลงทุนเอกชน โดยเศรษฐกิจไทยมีปัญหา จีดีพีค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับศักยภาพ ประเทศคู่ค้า หรือประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีการคาดการณ์ว่า จีดีพีทั้งปี จะอยู่ที่ 2.4% อยากให้จีดีพีปรับขึ้นไปที่ 3% โดยการขับเคลื่อนผ่าน 3 ด้าน คือ 1.ภาคการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้านักท่องเที่ยวปีนี้ที่ 35.7 ล้านคน แต่หากสามารถเพิ่มตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้อีก 1 ล้านคน เป็น 36.7 ล้านคน ซึ่งรมว.ท่องเที่ยวและกีฬาก็เชื่อมั่นว่า น่าจะสามารถผลักดันได้ และต้องทำให้การพำนักในไทยของนักท่องเที่ยวให้นานขึ้นด้วย หากทำได้จะช่วยผลักดันจีดีพีได้ 0.12%

2.การเบิกจ่ายงบภาครัฐ ซึ่งงบลงทุนปี 2567 มียอดทั้งหมด 8.5 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจริง และรอการเซ็นสัญญารวมแล้ว 51% แต่จะพยายามขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ได้ 70% แต่ส่วนตัวมีเป้าในใจอยากให้ทะลุ 75% โดยในพุธนี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่ยังไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้ผลักดันงบลงทุนให้ได้ถึง 70% ภายในปีนี้ จะเป็นการช่วยให้เพิ่มจีดีพี 0.24% ดังนั้นรวมแล้ว จะได้จีดีพีที่ 3%

3.มาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน แม้รัฐบาลจะประเมินการช่วยเหลือได้ยาก แต่ตัวเลขที่เป็นไปได้จากข้อมูลบีโอไอ วันนี้ภาคเอกชนเริ่มเซ็นสัญญาลงทุนแล้ว และพร้อมที่จะเริ่มงานใน 3 ปี จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า จะเม็ดเงินลงทุนดังกล่าว จะดึงมาลงทุนในปีนี้สัก 3-4 แสนล้านบาทก็จะเป็นการช่วยเพิ่มจีดีพี แม้ตัวเลขยังไม่นิ่งก็จะมีการทำงานร่วมกับบีโอไอ เพื่อสรุปตัวเลขให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และกลับมาลงทุนในประเทศไทยได้เร็วที่สุด

โดยทั้ง 3 มาตรการนี้ เป็นมาตรการเบื้องต้นเท่านั้น แต่จะต้องมีการพิจารณาตัวขับเคลื่อนว่า ตัวไหนเป็นสาระสำคัญ และมาเร่งดำเนินการ ซึ่งจะมีการศึกษาว่า จะขับเคลื่อนงานด้านใด

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ครม.เศรษฐกิจได้พิจารณาการแก้ไขปัญหาปาล์มตกต่ำ โดยเฉพาะในเดือนนี้ที่มีผลผลิตออกมาจำนวนมาก โดยมาตรการระยะสั้นอยากเห็นผู้ซื้อสามารถพูดคุยกับเจ้าของโรงงานไบโอดีเซล 100 หรือ B100 เพื่อที่จะกำหนดราคาที่ใกล้เคียงและเป็นราคาที่จะสามารถประกาศ ซึ่งจะมีการหาคำตอบว่า จะสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำ B100 ขึ้น น้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ก็จะขึ้น และถ้าควบคุมการซื้อขายปาล์มได้ ก็จะทำให้ราคาขยับขึ้นไปที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาจากวงจรทั้งหมด โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงานไปดูราคาตลาด ก่อนดำเนินการประกาศและพูดคุยกับผู้ค้าน้ำมันมาตรา7 เพื่อให้ลงตัวมากที่สุด

ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจ รับทราบรายงานจากกระทรวงแรงงาน ในเรื่องการดูแลแรงงานในขณะนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรงงานที่ปิดและมีคนตกงานมากกว่า 5 แสนคน ขณะเดียวกันต้องรองรับนักศึกษาจบใหม่อีก 1 แสนคน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้เทียบตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ซึ่งมีมากกว่า 5 แสนตำแหน่ง ณ วันนี้ จึงมีแรงงานที่ว่างงาน 1 แสนกว่าคน ดังนั้นจึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานติดตามสถานการณ์ดูความสมดุลการจ้างงาน

นอกจากนี้ได้มีการหารือเพิ่มทักษะแรงงานไทย ซึ่งขณะนี้มีความต้องการด้านอิเล็กทรอนิกส์และด้านไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่นักลงทุนสนใจ โดยอยากได้คนที่มีทักษะทำงานได้ รวมถึงมีพลังงานสีเขียว โดยหลังจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลสิ่งที่นักลงทุนสนใจ และเห็นว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ อัพสกิลแรงงานดึงเงินลงทุนต่างชาติ ว่า นักลงทุนต่างชาติจะสนใจลงทุนในด้านใด โดยจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด ด้วยการฝึกคนรุ่นใหม่ เน้นการเรียนการสอนให้มหาวิทยาลัย ซึ่งอาจจะมีหลักสูตรที่ตรงมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันต้องมีที่ฝึกงานแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ ส่วนบุคคกรที่มีความใจด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้วก็จะมีการเพิ่มทักษะมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งสามารถจะเข้าหลักสูตรเรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องคน

ขณะเดียวกันที่ประชุมครม.เศรษฐกิจ ได้มีการพิจารณาหนี้ NPL สูง และผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งในเร็วๆนี้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าจะมีมาตรการที่จะยืดหยุ่นในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการให้กับกลุ่ม 21 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ที่มีจำนวน 4 ล้านราย ออกจากเครดิตบูโร ส่วนในการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (11 มิ.ย.) จะมีการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในระยะต่อไป จะมอบหมายให้ธนาคารออมสินออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 100,000 ล้านบาท ปล่อยให้กับสถาบันการเงินในอัตรา 0.1% เพื่อนำวงเงินดังกล่าวไปปล่อยสินเชื่อต่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ ดอกเบี้ย 1-3ปีแรกไม่เกิน 3.5% ซึ่งยอมรับว่า อาจจะกระทบกับกำไรของธนาคารออมสินบ้าง แต่ถือเป็นการช่วยผู้ประกอบการ ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ 

#จีดีพี #ข่าววันนี้ #เบิกจ่ายงบ #ท่องเที่ยว #ลงทุน