วันที่ 9 มิ.ย.2567 ที่เขตจตุจักร นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่สังเกตการณ์เลือก สว.ระดับอำเภอ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทร์
เกษม เขตจตุจักร กรุงเทพ ก่อนจะเปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการได้ติดตามกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่อย่างต่อเนื่อง มีเป้าหมายอยากให้กระบวนการคัดเลือก สว.ดำเนินการด้วยความราบรื่น โปร่งใสเป็นไปตามกรอบเวลา และประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยวันนี้คณะกรรมาธิการกระจายตัวไปสังเกตการณ์ทั่วประเทศ เหตุผลที่ตนเองตัดสินใจมาสังเกตการณ์ที่เขตจตุจักร เพราะมีผู้สมัคร สว.จำนวนมาก เป็นหนึ่งใน 3 เขตของกรุงเทพ ที่มีผู้สมัครเกิน 90 คน
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ขอเรียกร้อง 3 ข้อถึง กกต. ประกอบด้วย 1.อยากเห็นการจัดสถานที่สังเกตการณ์ที่ใกล้ชิดกว่านี้ เขตจตุจักรแม้จะมีสถานที่สังเกตการณ์ แต่การสังเกตการนับคะแนนและผลการนับคะแนนยังทำได้ยากมาก ต้องติดตามผ่านกล้อง CCTV ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ และเป็นการเผยแพร่ภาพเพียงอย่างเดียว จึงเรียกร้องไปยัง กกต.ปรับปรุงให้ผู้สังเกตการณ์และประชาชนเข้าถึงกระบวนการได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการเลือก สว.ระดับจังหวัด
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่าการจัดสถานที่สังเกตการณ์ในการเลือกระดับอำเภอ แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน บางที่สามารถดูกระบวนการนับคะแนนและเอกสารหน้าที่เลือกได้เลย บางแห่งมีพื้นที่จำกัดและเข้าไปด้านในที่เลือกไม่ได้ บางพื้นที่ต้องดูผ่านกล้องวงจรปิดอย่างเดียว
2.มาตรฐานการปฎิบัติในแต่ละหน่วยเลือกไม่เหมือนกัน เช่น การจับสลากแบ่งสาย แนวปฏิบัติการพูดคุยแนะนำตัวระหว่างผู้สมัคร และ 3.คงแก้ไม่ทันแล้วแต่ต้องถอดบทเรียน เพราะผู้สมัครในภาพรวมมีจำนวนน้อย 4 หมื่นกว่าคน ทำให้บางกลุ่มอาชีพไม่มีผู้สมัคร บางกลุ่มมีผู้สมัครไม่เกิน 5 คน ไม่ต้องคัดเลือกกัน การแข่งขันจึงไม่เข้มข้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่าส่วนข้อครหาในการจัดจ้างคนมาเลือกเพื่อฮั้ว ถือเป็นข้อร้องเรียนที่ได้รับเข้ามาเรื่อย ๆ ในคณะกรรมาธิการ ซึ่งมีหลายระดับร้ายแรงสุดถึงขั้นว่าจ้างให้คนมาเลือกตนเอง รองลงมาคือการจัดตั้งเครือข่ายในกลุ่มคนที่รู้จักเพื่อแลกคะแนนเสียง ทั้งหมดถือเป็นความผิดตามกฏหมาย เฉพาะหน้าอยากให้ กกต. ดำเนินการอย่างจริงจังและรวดเร็วเพื่อค้นหาข้อเท็จจริง และต้องไม่ให้กระทบต่อการเลือก สว.ชุดใหม่ ระยะยาวส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเลือก สว.ในระบบนี้ จึงตั้งคำถามว่าจำเป็นต้องมีวุฒิสภาหรือไม่ เพราะหลายประเทศทั่วโลกที่เป็นรัฐเดี่ยว มีระบบรัฐสภาก็ใช้ระบบสภาเดียว มีเพียงสภาผู้แทนราษฎร หากจะมี สว.ที่มีอำนาจสูงร่วมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ รับรองตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระก็ควรมาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่คัดเลือกกันเองระหว่างผู้สมัคร ซึ่งมีอุปสรรคเรื่องอายุ และค่าทำเนียมการสมัครที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างไม่เต็มที่
เมื่อถามว่าคิดว่สจะได้ สว.ที่ตอบโจทย์หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่าไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างและที่มาของ สว.หวังว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายในการเมืองไทย การออกแบบรัฐสภาที่ตอบโจทย์จะถูกพูดคุยในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประเทศไทยจำเป็นต้องมี สว.หรือไม่ หากมีจะต้องออกแบบโครงสร้างอำนาจหน้าที่อย่างไรให้สอดคล้อง
นายพริษฐ์ กล่าวว่า กกต.เกี่ยวกับเรื่องการฮั้ว กกต.ควรเอาจริงเอาจัง จัดสรรบุคลากรให้เพียงพอเพื่อสืบค้นข้อเท็จจริงให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยไม่กระทบภาพรวมในการคัดเลือก สว.ให้เป็นไปตามปฏิทิน อย่างไรก็ตามคณะกรรมาธิการได้รับรายงานเรื่องการฮั้ว เช่น รูปที่ใช้ในการสมัครดูเหมือนเป็นสถานที่เดียวกัน ทั้งหมดเป็นเพียงข้อสังเกต ยังไม่ด่วนสรุปว่ามีการจัดตั้ง ท้ายสุด กกต.ต้องเอาจริงเอาจังกับการสืบค้นข้อเท็จจริง โดยไม่กระทบต่อปฏิทินในการคัดเลือก สว.