“พิธา” นำแถลงข้อต่อสู้คดียุบพรรค ยืนยัน "ศาล รธน."ไม่มีอำนาจวินิจฉัย กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชี้ตามหลักกฎหมายต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ และโทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเพื่อรักษาประชาธิปไตย ไม่ใช่ทำลายประชาธิปไตยเสียเอง
.
วันที่ 9 มิ.ย.2567 ที่อาคารอนาคตใหม่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวแนวทางการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล โดยชี้แจงข้อต่อสู้ทั้งในแง่ของเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ ว่า พรรคก้าวไกลได้ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 ประเด็น แต่การแถลงวันนี้จะเน้นรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของคดี ไม่ได้เป็นการชี้นำคดีหรือการวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยมี 4 ประเด็นที่ต้องการเน้นย้ำต่อสาธารณชน ได้แก่
1 ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ โดยพิธาระบุว่า พรรคก้าวไกลยืนยันในสิ่งที่ต่อสู้มาแล้วตั้งแต่คดียุบพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจเฉพาะ คือ (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ และ (3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ไม่มีข้อใดที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองเลย รวมถึงไม่ได้เปิดช่องให้ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจอื่นให้ศาลรัฐธรรมได้อีก การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยอ้างว่าตนเองมีอำนาจยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น เป็นการอ้างกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

2.กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนกำหนดให้ผู้ถูกร้องต้องมีโอกาสได้รับทราบ โต้แย้ง หรือแสดงพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาก่อนแต่อย่างใด โดยพิธาย้ำว่า กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ซึ่งต้องดำเนินการประกอบกับมาตรา 93 ที่ระบุว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ให้นายทะเบียนรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการฯ กำหนด

ในประเด็นนี้ กกต.ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่าการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อยื่นยุบพรรคนั้น ต้องเป็นไปตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ระเบียบดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนว่า บุคคลและคณะบุคคลที่นายทะเบียนแต่งตั้งต้องให้พรรคการเมืองมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา และเมื่อนายทะเบียนพิจารณาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว มีหลักฐานอันสมควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ก็ให้เสนอ กกต.พิจารณา และในกรณีที่ กกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียน จึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุบพรรคได้

ทั้งหมดนี้เป็นหลักเกณฑ์ที่ กกต.กำหนดเป็นระเบียบออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยังไม่มีระเบียบนี้ออกมา
.
“ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น พรรคก้าวไกลไม่เคยมีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง หรือนำพยานหลักฐานเข้าสู่กระบวนการของ กกต. เพราะฉะนั้นการยื่นคำร้องในคดีนี้ขัดกับระเบียบที่ กกต.ตราขึ้นเอง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย พอเป็นมาตรา 92 ต้องลงมาที่นายทะเบียนพรรค ไม่ได้หมายความว่า กกต.เห็นว่ามีข้อมูลเพียงพอแล้วฟ้องได้เองเลย โดยไม่ต้องคำนึงถึงมาตรา 93 กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย” พิธากล่าว

3. ในการพิจารณายุบพรรคก้าวไกลต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ จะอ้างว่าข้อเท็จจริงที่กล่าวหาพรรคล้มล้างการปกครองเป็นที่ยุติแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่ได้ ทั้งนี้ คำวินิจฉัยในคดีก่อนไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่มีข้อหาต่างกันและระดับโทษก็ต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาคดีจึงต้องมีความเข้มข้นแตกต่างกัน

ดังนั้น ในคดียุบพรรคการเมือง ไม่ใช่แค่สั่งให้เลิกการกระทำ จำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่ทั้งหมด ด้วยมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าคดีก่อน จึงจะถูกต้องตามหลักกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการกระทำตามที่กล่าวหานั้นเป็นการกระทำของพรรคจริงหรือไม่ และการกระทำเหล่านั้นเป็นการล้มล้างการปกครองหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ จริงหรือไม่
.
4) แม้โทษยุบพรรคจะมีได้ในระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องมีไว้เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ซึ่งพรรคการเมืองมีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น มาตรการยุบพรรคจึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง ด้วยความอดทนอดกลั้น ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด และเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีมาตรการอื่นยับยั้งการกระทำที่เห็นว่าเป็นล้มล้างการปกครองได้แล้วเท่านั้น

พิธายังระบุด้วยว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นไม่เป็นการล้มล้างและไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายหาเสียง การยื่นร่างกฎหมายในสภาฯ การแสดงความเห็นในที่สาธารณะ รวมถึงการที่คนของพรรคเป็นนายประกันหรือเป็นผู้ต้องหาในคดีตามมาตรา 112

ที่ผ่านมา การที่ สส.ยื่นร่างกฎหมายหรือนำการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นนโยบายหาเสียง รวมถึงการที่ สส.ไปเป็นนายประกันในคดีมาตรา 112 ล้วนเคยมีผู้ร้องไปที่ กกต.ขอให้ยุบพรรคก้าวไกลมาแล้ว แต่ก็ยกคำร้องมาโดยตลอด และ กกต.ก็ไม่เคยมีหนังสือเตือนมาที่พรรคก้าวไกลเหมือนกับที่เคยส่งหนังสือเตือนพรรคการเมืองหนึ่งที่ไปหาเสียงที่จังหวัดนครราชสีมาโดยใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ในการหาเสียง และไม่เคยทักท้วงนโยบายที่ยื่นให้ กกต. ต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่ กกต.เคยให้ชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณ

นอกจากนั้น ร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้เข้าสภาฯ เลยด้วยซ้ำ หรือแม้จะเข้าไปในสภาฯ ได้ ก็ยังสามารถยับยั้งหรือแก้ไขได้ในกระบวนการนิติบัญญัติ รวมทั้งยังถูกตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญได้อีกว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
.
เพราะฉะนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหานั้น จึงเป็นสิ่งที่ระบบนิติบัญญัติสามารถยับยั้งได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว และยังมีวิธีแก้ไขอื่นอยู่หากเห็นว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำนั้นเป็นการกระทำที่ล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่จะต้องให้ยุบพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด
.
“ในกรณีของพรรคก้าวไกล การกระทำยังไม่ใกล้ชิดต่อผล และเมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อเดือนมกราคม พรรคก้าวไกลก็ได้หยุดการกระทำไปแล้ว ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการยุบพรรค การยุบพรรคการเมืองต้องเป็นไปเพื่อพิทักษ์และรักษาหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของพฤติการณ์ของพรรคการเมือง มิเช่นนั้น การยุบพรรคจะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตย และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียเอง” พิธากล่าว