เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.67 นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานพรรคชาติพัฒนา พร้อมด้วย นายแพทย์วรรณ ชาญนุกูล สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนา นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา รศ.ดร. อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ. ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ได้เดินทางมาที่จุดบริเวณขุดพบโครงกระดูกมนุษย์ อายุ 2,000 ปี ซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ คูเมืองด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ ตัด ถ.พลล้าน เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา (เดิมเป็นอาคารสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (สคพ.11 นม.)
นายสุวัจน์ กล่าวว่าสืบเนื่องจากทางท่านนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา อยู่ระหว่างการปรับปรุงภูมิทัศน์ของคูเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว และเป็นแหล่งสันทนาการให้กับพี่น้องประชาชนชาวโคราช จึงได้ร่วมมือกับกรมศิลปกรในการเข้ามาบูรณะทางคูเมืองเก่าและกําแพงเมืองต่างๆ ก็ได้มีการขุดดินฐานราก ปรากฏว่ามาเจอโครงกระดูก พร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่กับโครงกระดูก อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ หรือเครืองเหล็ก อะไรต่างๆ ซึ่งเนื้อของถ้วย ชาม ทางเจ้าหน้าที่กรมศิลปกร บอกว่าอายุประมาณ 2,000 ปี ถือเป็นถ้วย ชาม ยุคพิมายดำ และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถที่จะสะท้อนถึงความเก่าแก่ของชุมชน
ล่าสุด พบโครงกระดูกที่ 3 อยู่ใกล้กับโครงกระดูกที่ 1 ซึ่งเป็นเพศชาย สูง 173 ซม.โครงกระดูกที่ 3 เจ้าหน้าที่กรมศิลป์ วิเคราะห์ว่าเป็นเพศหญิง เพราะพบเครื่องประดับเป็นต่างหูทองคำ พบแหวนทองที่นิ้ว พบสร้อยหิน อายุประมาณ 2,000 ปี แต่เมืองโคราช 556 ปี แต่การที่มีการค้นพบทั้งโครงกระดูกทั้งอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความเก่าแก่มากกว่านี้ ก็อาจจะต้องมีการศึกษาค้นคว้ามากกว่านี้ แสดงว่าที่นี้เดิมที่มีชุมชน มีประชาชนที่อยู่เป็นพื้นฐานของบริเวณเหล่านี้ ก่อนที่จะมาสร้างเมืองโคราช อาจจะอยู่กันมาเป็นพันปีแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่กรมศิลป์กับทางเทศบาลฯ และมหาลัยราชภัฏนครราชสีมา ซึ่งทําเรื่องฟอสซิล ทําเรื่องอุทยานธรณีโลก จะต้องช่วยกันมาวิเคราะห์ในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ประวัติศาสตร์ต่างๆ ว่าเจอแหล่งโบราณอย่างนี้ เจอกระดูกโบราณ เจออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ สามารถที่จะพัฒนาอะไรที่เป็นสิ่งที่จะเรียนรู้ ถึงอดีตก่อนที่จะเกิดเมืองโคราชในบริเวณเหล่านี้ได้อย่างไร หรือ มีบางคนเสนอว่าควรจะมีเป็นมิวเซียมที่จะบ่งบอกถึงประวัติของชุมชนที่จะสืบสานถึงประวัติศาสตร์ของคนโคราช
เพราะฉะนั้น ท่านนายกเทศมนตรีฯ กรมศิลปกร และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยอาจารย์ประเทือง จะได้ร่วมกันในการที่จะมาศึกษาต่อถึงแนวทางการดําเนินการที่จะศึกษาและเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป