ผลการสำรวจพบเด็กไทยตกอยู่ในสภาพเนือยนิ่ง-ขาดการออกกำลังกายเหตุสภาพสังคมเปลี่ยน พชภ.จับมือ ม.มหิดล ร่วมหาทางออก
วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ห้องประชุมโรงแรมเอ็มบูติค จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.)โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้มีการประชุมโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางกายเด็กและเยาวชนชุมชนชาติพันธุ์เขตพื้นที่ต้นน้ำจังหวัดเชียงราย โดยคณาจารย์จากโรงเรียนต่างๆที่ร่วมโครงการ เจ้าหน้าที่ สพฐ. รพสต. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. กว่า 50 คน รวมทั้งนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพชภ. และนางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการเพื่อส่งคืนรายงานผลการสำรวจสถานการณ์กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ในเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์
นางจุฑามาศ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2566 ทางโครงการได้คัดเลือก “นักสืบกายดี” จากนักเรียนแกนนำทำหน้าที่เป็นผู้เก็บข้อมูล โรงเรียน 9 แห่ง โดยนักสืบกายดีที่คัดมาจะได้รับการอบรมวิธีการเก็บข้อมูลเพื่อนๆ เรื่องสุขภาพของเพื่อนโรงเรียนเดียวกัน จำนวน 50 คน รวมทั้งหมด 450 คน ในระดับชั้น ม.1 - ม.3 หลังจากเก็บข้อมูลโครงการฯ ได้นำมาสังเคราะห์ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วคืนข้อมูลให้กับโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เวียงแก่น อ.แม่สรวย อ.แม่จัน รวมกว่า 30 โรงเรียน
นางจุฑามาศกล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนของเยาวชนชาติพันธุ์หลายกลุ่ม มีการวางแผนการทำงานร่วมกันในการจัดกิจกรรมทางการในโรงเรียนและแก้ไขพฤติกรรมเนือยนิ่งทำให้สุขภาพเด็ก ๆ ไม่แข็งแรง จากข้อมูลพบว่า นอกจากเด็กจะลดพฤติกรรมการเคลื่อนไหวทางกายด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กที่อยู่ในโรงเรียนถูกคาดหวังจากผู้ปกครองให้เรียนสูงๆและมีวิชาชีพ จึงมีการติวเข้มเรียนพิเศษต่างๆ ทำให้เด็กต้องอยู่กับการเรียนมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กเคลื่อนไหวทางกายน้อยลง หลังเก็บข้อมูลและวิเคราะห์จะต้องมาออกแบบกิจกรรมร่วมกันครูในโรงเรียน ซึ่งมีกิจกรรมทางกายที่เชื่อมกับสังคม เช่นการเดินกับเพื่อนหรือสัตว์เลี้ยง กิจกรรมดั้งเดิมชาติพันธุ์ การเล่นเกม การนันทนาการกลางแจ้ง
“ทางโครงการฯ ก็ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนกับอาจารย์จากมหาวิยาลัยมหิดล ที่มุ่งจะพัฒนาการส่งเสริมสุขภาวะทางกายเป็นกระแสหลัก ที่ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดทำศูนย์ส่งเสริมสุขภาวะทางกาย 130 โรงเรียนใช้แนวทางวิทยาศาสตร์สุขภาพโดยผู้ออกแบบกิจกรรม ซึ่งทางโครงการพร้อมที่จะร่วมหารือแนวทางต่อไป นอกจากนี้ได้นำเสนอโครงการฯ ต่อทางเทศบาลท้องถิ่นในพื้นที่ที่สนใจ รวมถึงผลักดันผ่าน สพฐ.ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” นางจุฑามาศ กล่าว
นางเตือนใจ กล่าวว่า ในอดีตนักเรียนมีการออกกำลังกายในกิจวัตรประจำวัน การปลูกพืชผัก การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน อยู่ในที่อากาศดี รายงานกิจการศึกษาวิจัยที่ร่วมจัดทำกันในครั้งนี้ได้เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งครู นักเรียน อนาคตจะชักชวนผู้ปกครองเข้ามาร่วม เพราะพบว่าปัจจุบันพบว่าเด็กมีโรคต่างๆ มากขึ้น ทั้ง ความดันเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันพอกตับ ซึ่งในที่ประชุมครูอาจารย์ที่เข้าร่วมได้นำเสนอข้อหารือใน 3 เรื่อง คือ 1 เมนูอาหารกลางวันในโรงเรียนที่ สพฐ. กำหนดมาให้เลือกทำส่วนใหญ่เป็นเมนูอาหารภาคกลางที่เด็กไม่ชอบรับประทาน แต่ก็ต้องทำตามที่กำหนด ไม่สามารถทำเมนูของชาติพันธุ์ได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนได้พัฒนาเมนูอาหารชาติพันธุ์ ร่วมกับทางโครงการฯ ทำใน “เมนูถูกใจเด็กใกล้ฟ้า” จึงต้องการให้มีอาหารของท้องถิ่นในเมนูที่สามารถทำได้
2 คือ การแนะแนวศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปลาย ที่ปัจจุบันต้องการให้เด็กได้เลือกเรียนตรงตามความถนัดและความต้องการในการศึกษาต่อ เพราะปัจจุบันมีปัญหาเด็กหยุดเรียนกลางคันในชั้นมัธยมปลายมากขึ้น และการแนะแนวทั้งเทอมก่อนจบ 3 ความไม่ชัดเจนเรื่องการรับนักเรียนไร้สัญชาติ ระยะหลังมีเด็กกลุ่มนี้เข้ามามาก และเมื่อนักเรียนมาสมัครเรียน มีการรับรองตัวตนจากผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียนก็รับเข้าเรียนตามสิทธิ พรบ.การศึกษา แต่ปัจจุบันปรากฎว่าทางฝ่ายปกครองให้ผู้อำนวยการและครูประจำชั้น ถ่ายภาพคู่กับนักเรียนไร้สัญชาติ จึงทำให้ครูเกิดความกังวลว่า แม้ทำตาม พรบ.การศึกษาแล้ว จะมีความผิดหรือไม่ ในอนาคตจึงต้องการความชัดเจน
“ทั้งสามเรื่อง ทาง พชภ.ได้เตรียมพิจารณาดำเนินการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและผลักดันเชิงนโยบายต่อไป” นางเตือนใจ กล่าว