มีความพยายามจากหลายฝ่าย ในการขับเคลื่อน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง เพราะแม้จะ “สลายความขัดแย้ง” ทางการเมืองที่เคยมีมาทั้งหมดในอดีต ไม่ได้เสียทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้น่าจะถือเป็นการนับหนึ่งคลี่คลายความขัดแย้ง ยุติการดำเนินคดีความ อันสืบเนื่องมาจากการแสดงออกทางการเมือง

ประเด็นที่มีการพิจารณาและได้ข้อสรุป เป็นที่ชัดเจนในชั้น คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม  ซึ่งเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.67 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันว่า จะมีการนิรโทษกรรมการกระทำและการแสดงออกทั้งหลายที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง  ซึ่งในชั้นของคณะอนุฯ จะไปสรุปประเภทคดีว่ามีการกระทำอะไรตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่อยู่ในข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง

แต่ดูเหมือนว่าในระหว่างทางเดิน ของการเดินหน้าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ถูกจับตาว่าที่สุดแล้ว จะสามารถ “ไปต่อ” กันได้แค่ไหน ?

ยิ่งเมื่อนาทีนี้ ปัญหาของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดคดี 112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ พาดพิงสถาบันฯ จนกลายเป็นเหตุให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องนั้น จะทำให้ กรรมาธิการฯ นิรโทษกรรม สังกัดพรรคเพื่อไทย จะต้องหาทาง “ขยับ” เพื่อเหมารวมเอาความผิดในคดี ม.112 พ่วงเข้าไปด้วยหรือไม่

ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า ความพยายามที่จะให้มีการนิรโทษกรรม ความผิดในคดี ม.112 นั้นไม่ต่างจาก ความสุ่มเสี่ยงและจุดเปราะบางสำหรับ พรรคก้าวไกล เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรค สส.อย่างน้อย 3รายที่ตกเป็น “จำเลย” ในคดี ม.112 มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นแกนนำม็อบราษฎร เคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมือง ปราศรัยพาดพิง หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ กองเชียร์ของพรรคก้าวไกล จำนวนไม่น้อยมีแนวคิดและพฤติการเข้าข่ายจาบจ้วง เซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบัน หลายคนอยู่ในเรือนจำมีความผิดจากคดี ม.112 ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งในและนอกสภาฯ ไปจนถึงกรรมาธิการฯนิรโทษกรรม ให้เหมารวมคดีในม.112 ไปด้วย

แต่สำหรับวันนี้ ดูเหมือนว่าไม่เพียงแต่พรรคก้าวไกล เท่านั้นที่ต้องการให้เหมารวมคดีในความผิดม.112 เอาไว้ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เท่านั้น ทว่าพรรคเพื่อไทยเอง ได้กลายเป็น “จุดโฟกัส” จุดใหม่ ว่าจะเลือกทางเช่นใด เนื่องจากมีอดีตนายกฯทักษิณ ติดค้างอยู่ในคดีดังกล่าว

อย่างไรก็ดีการเคลื่อนไหวต่อประเด็น ม.112 ของพรรคเพื่อไทย ถูกมองว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็น “ชนวนเหตุ” ปมใหม่ในการเชิญชวนให้เกิด “รัฐประหาร” ตามมาอีกครั้ง เป็นรอบที่ 3 หรือไม่ หากยังมีแรงผลักดันกันมากขึ้น

แม้รัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย หลายต่อหลายคนจะออกมาประสานเสียงว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการหาทางช่วยอดีตนายกฯทักษิณ และสำคัญไปมากกว่านั้นคือการที่พรรคเพื่อไทย ต้องจดจำ “บทเรียน” ในอดีตที่เคยถูกยึดอำนาจมาแล้ว ถึงสองครั้ง ส่วนหนึ่งก็มาจากความพยายามผลักดัน “นิรโทษกรรมสุดซอย” เมื่อปี 2556 จนทำให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ น้องสาวทักษิณ ต้องยุบสภาฯ และเผชิญกับมรสุมทางการเมืองอย่างหนักหน่วงมาแล้ว

การเดินหน้ากฎหมายนิรโทษกรรม ในวันนี้  แม้พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยน “นายกฯ” มาสู่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 แต่ประเด็นที่กำลังจะเป็น “เงื่อนไข” กดดันรัฐบาลเพื่อไทย คือการจับตาว่าจะมีการเหมาแข่ง ม.112 ล้างผิดไปด้วยหรือ เพราะหากเกิดขึ้นจริง ทักษิณ ย่อมได้อานิสงน์ไปด้วย ส่วนพรรคก้าวไกลเองย่อมสมหวังเพราะนี่คือเป้าหมายตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งเมื่อปี 2566 อยู่แล้ว

ดังนั้นจึงน่าสนใจว่าหากทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล “ออกแรง” ผลักดันให้มีการเหมาเข่ง คดีม.112 เอาไว้ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้สำเร็จ “แรงต้าน” จากในพรรคร่วมรัฐบาลและ การเมืองบนถนน จะมีพลังงัดง้างมากพอหรือพากัน โรยแรงไปตามๆกันหมดแล้ว !?