บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)
ความตอนที่แล้วได้กล่าวถึงทำลายสมดุลธรรมชาติว่า คนบนพื้นราบกับคนบนเขามีส่วนในการทำลายธรรมชาติอย่างไรบ้าง มองมุมต่างสองมุมก็มีส่วนในการทั้งส่งเสริมและทำลายกันทั้งสองด้าน ตอนนี้ย่างเข้าฤดูฝนแล้ว ก็เกิดความเกรงกลัวต่างๆ นานา เช่นว่า ฝนตกดี พืชผลออกมากราคาจะต่ำ รัฐจะพยุงราคาไม่ไหว รัฐก็จะไม่ทำฝนเทียม ยิ่งมาเจอข่าว (28 พ.ค.67)ว่า จ.สุพรรณบุรีมีสถานการณ์น้ำท่วมหลังฝนตกต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมขัง และท่วมฉับพลันที่ อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง แถมรับน้ำจากจังหวัดข้างเคียง ทำให้ประชาชนกว่า 100 หลังคาเรือนหลายอำเภอเดือดร้อน อันเป็นผลจากการกักน้ำปล่อยน้ำควบคุมปริมาณน้ำของกรมชลประทาน ผู้คนจึงสงสัยว่าเกิดเหตุอะไรขึ้นตั้งแต่ต้นฝนและในช่วงรัฐบาลใหม่ เหล่านี้จึงเกิดคำถามเศรษฐกิจการเมืองตามมา สะท้อนถึงประสิทธิภาพของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 46/2560 เพราะอย่าลืมว่าตามประสาคนไทย โดยเฉพาะในบางพื้นที่ ฝนมันเป็นทุกอย่างของชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่เกษตร ที่คนเมืองก็ต้องพึ่งฝนจากเศรษฐกิจพาณิชย์ของคนชนบทที่ต้องมาเจือจุนหล่อเลี้ยงคนเมืองเช่นกัน
พักนี้มีการพูดถึงเรื่อง ไทยอยู่ในภาวะ โลกเดือด ทำไมต้องเป็นโลกเดือด เกิดอะไรขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา อากาศร้อนมาก จนอุณหภูมิสูงถึง 45-46 องศาเซลเซียส ซึ่งผิดปกติกว่าหลายปีที่ผ่านมา แถมยังมี ผู้กล่าวว่าในอนาคตไทยอาจมีโอกาสร้อนถึง 50°C อนาคตไทยในยุคโลกเดือด การเกิดภาวะอากาศ ร้อนจัด-น้ำท่วมหนัก ถือเป็นภาวะที่ไม่ปกติ อันเป็นผลพวงที่มาจากภาวะเอ็นโซ หรือ ภาวะ เอลนีโญลานีญา ซึ่งปกติจะเกิด ประมาณรอบละ 3-5 ปี สลับกัน แต่ที่ผ่านมารอบระยะเวลา จะเกิดถี่ขึ้นขึ้นเป็นปีเว้นปี นี่คือความผิดปกติของเรื่องภาวะอากาศ เพื่อเป็นการเตรียมการเรื่องดังกล่าว ประเทศไทยได้จัดตั้งกรมโลกร้อน หรือกรม ภูมิอากาศ เปลี่ยนแปลงขึ้น เมื่อปีที่แล้ว และแนวโน้ม ตามแผน บริหารจัดการ ภาครัฐในปีนี้ ก็จะตั้ง กระทรวง โลกร้อน เพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วย
จากข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 มีบทวิพากษ์ว่าด้วยโลกเดือด จนอยู่ไม่ได้ ที่น่าสนใจในหลายประเด็น ซึ่งบรรดานักวิชาการเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น อาจจะเป็นความจริง ก็ได้ แต่ประชาชนหลายคน อาจจะมองว่าเป็นเรื่อง ไร้สาระ เพ้อเจ้อ แต่งเติมเรื่อง เพราะ เพียงอากาศร้อน 40 องศาเซลเซียสที่คนไทยเจอทุกวันนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาเล็กน้อย หากแต่ในอนาคตมีโอกาสร้อนถึง 50 องศาเซลเซียส ร้อนสุดขั้ว คงมิใช่ภัยเรื่องธรรมดาอย่างเดียวที่ไทยต้องเจอ ต้องมาคาดการณ์กันว่าจะมีอะไรอีกที่คนไทยต้องเจอ
นักวิชาการเห็นว่า ไทยเสี่ยงเป็นอันดับ 9 ของโลก ถือว่าเสี่ยงมาก แต่รัฐบาลที่ผ่านมาหรือรัฐบาลปัจจุบัน ยังไม่มีการเตรียมการเพื่อรับมือแต่อย่างใด ยังขาดแผนรับมือ การเกิดคลื่นความร้อน ที่แถมโรคร้ายหน้าร้อน และ Heat Stroke ติดตามมาก็ต้องเตรียมรับมือ ต้องเตรียมแผนรับมือดีๆ อีก 60 ปีข้างหน้าเราอาจตายแล้ว แต่อีกหลายชีวิตต้องดำเนินต่อไป ต้องจริงจังได้แล้ว มิใช่ทำได้แค่ช่วยเหลือตัวเอง หวังพึ่งหน่วยงานรัฐไม่ได้ เพราะตราบใดที่คนไทยยังนิยมกินหมูกระทะ เหมือนเดิมโอกาสเกิดโลกวิบัติก็มีสูงอยู่ มาตรการในข้อตกลงปารีสที่ทุกๆ ประเทศจะร่วมมือกันปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ (Net zero emissions) และตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยมันใช้ไม่ได้จริงในชีวิตประจำวันแล้ว เพราะขนาดพื้นที่แต่ละจังหวัดในไทยผลกระทบก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และยังมีปัจจัยอื่นอีก และข้อตกลงปารีสที่ต้องช่วยกันให้ทันอย่างน้อยภายในปี 2030 ที่ต้องเริ่มทำกันเดี๋ยวนี้และตอนนี้ ต้องยอมรับด้วยว่าเรื่องนี้มันสำคัญกับมนุษย์ทุกคนที่ยังอยู่และมนุษย์รุ่นต่อๆ ไปที่กำลังจะเกิดมา เพราะไม่อย่างนั้นโลกเราจะไม่เหลืออะไรไว้ให้มนุษย์รุ่นต่อไปได้ใช้ชีวิตอีกเลย
นี่เป็นข่าวที่ต้องให้ความสนใจมากๆ ให้ประชาชนตื่นตัวกัน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไร้วินัยและไม่คิดจะหาหนทางแก้ไข คิดอย่างเดียวรอให้มันเกิดขึ้นมาถึงค่อยแก้ไข ที่ผ่านมาตั้งแต่การแก้ไขปัญหาโควิด คลื่นสึนามิ และอีกหลายๆ ปัญหา แก้ปลายเหตุ แบบวัวหายแล้วล้อมคอกทุกครั้ง แบบวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ผู้บริหารต้องสามารถเข้าถึงแก่นของปัญหา และแก้ไขอย่างตรงจุดได้ ต้องคิดแก้ไขปัญหาหรือคาดการณ์อะไรเป็นตั้งแต่ระดับครอบครัวไว้
มีผู้ทำนายว่าให้เวลาไม่เกิน 15 ปี (ภายในปี พ.ศ.2582 หรือปี 2039) อาจเกิด “ภาวะโลกเดือด” ในความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก อาจร้อนจนอยู่ไม่ได้ หากน้ำท่วมก็เสียหายเยอะ มันมีลางบอกเหตุว่ามันอาจเกิดเร็วขึ้น หรือระยะเวลามันจะสั้นลง รัฐบาลต้องใส่ใจจริงจังกับเรื่องภัยธรรมชาติ มองเป็นเรื่องใหญ่พอกับเรื่องปากท้องของประชาชน หรือให้ความสำคัญมาเป็นอันดับ 1 เช่นกัน ที่ผ่านมาต้องหันมาทบทวนว่า ประเทศเรา อากาศร้อนจัดมากี่ปีแล้ว น้ำท่วม น้ำแล้งมาเป็นกี่ปีแล้ว ฝุ่นมลพิษมีมากี่ปีแล้ว และภาครัฐออกมาทำอะไรกับปัญหาที่เกิดดังกล่าวบ้าง ซักที ทั้งๆ เรื่องแบบนี้ควร ก่อนเสมอ ผ่านมากี่ปีก็ยังให้อยู่ไปแบบนี้เหมือนเดิม
ต้องหยุดสัมปทานตัดไม้ ที่อาจจช่วยได้ และแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่ยังตัดไม้ขาย ต้นเล็กต้นน้อยตัดหมด ส่งขายโรงไม้เป็นตัน ทำให้ต้นไม้ที่โตไม่ทัน โดยเฉพาะที่บ้านนอกชาวบ้านตัดหมดไม่สนป่าเขาหรือข้างทางที่ใครไม่รู้ตัด บางคนเผาป่าข้างทางเบิกทางเลยจะได้เข้าไปตัดไม้ได้ง่ายก็มี รัฐบาลที่ผ่านมาอย่างเก่งก็คิดได้แค่ 4 ปี และวนเวียนอยู่แต่เรื่องอำนาจและผลประโยชน์พวกพ้อง ทำให้การแก้ไขปัญหาวิกฤติใหญ่ๆ ไม่เกิด
สาเหตุหนึ่งที่ไทยร้อนทั้งที่มีหน่วยงานที่ดูแลป่า ปรากฏว่า 50 ปีที่ผ่านมา ป่าลดลงเหลือนิดเดียว ปีนี้แม่น้ำยม เหลือแค่ตาตุ่ม อีสานแล้ง กลับแล้งยิ่งขึ้น แล้วเราจะมีกลุ่มงานพวกนี้ไว้ให้เปลืองภาษี ทำไม ส.ป.ก. เขาใหญ่ ผลเป็นไง ก็ไม่รู้ มีปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น การรับส่วย สินบนของเจ้าหน้าที่ มันไม่พียงเกิดจากการโค่นต้นไม้อย่างเดียว แถมยังมีปล่อยมลพิษควันไอเสียจากโรงงานการเผาป่าเผาไร่และควันไอเสียจากรถยนต์ด้วย ที่ทุกวันนี้ก็ยังเผาไร่กันอยู่ ห้ามขาดไม่ได้ ข้าราชการก็มั่วนั่งทำงานและคิดในห้องแอร์
มันไม่ใช่แค่เผาป่าเราว่า เผาการเกษตรเยอะมาก หรือการที่เก็บภาษีที่ดินรกร้างใน กทม. ทำให้คนเปลี่ยนที่รกร้างที่มีต้นไม้มีป่าเล็กๆรอบเมืองเป็นตึก ที่จอดรถ ถมคอนกรีต ปลูกกล้วยนิดหน่อยเพื่อเลี่ยงภาษีไปหมด ป่าเล็กๆ ต้นไม้ตามจุดต่างๆถูกทำลายไปหมด คุณลองไปยืนข้างๆ ที่รกๆที่เป็นป่าเล็กๆใน กทม. กับ ไปยืนบน ถนน คอนกรีตปกติ อุณหภูมิต่างกันนะเราว่า เรารู้สึกได้เลยเวลาเดินผ่าน ความร้อนจากแสงอาทิตย์ตกลงดินที่มีหญ้ามีดินมีต้นไม้ กับแสงอาทิตย์ตกลงคอนกรีตแล้ว reflect ขึ้นทันที มันต่างกันเลย และป่าเล็กๆพวกนี้รอบเมืองโดนทำลายหมด
ตาตุ่มก็มีไม่ถึง แม่น้ำยมขาดเป็นช่วงๆ เป็นหาดทรายไม่มีน้ำ สุโขทัยยังไม่เห็นแผนจะแก้อย่างไรเลย การสร้างมลพิษทางอากาศไม่มีพักผ่อนผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจดีแต่พูดกลับกันไม่เคยมีอะไรเด็ดขาดจริงจังในการแก้ไขเหมือนไฟไหม้ฟางลุกกระพือตอนจุดแป็บเดียวก็ดับเหมือนกันกับการแก้ไข เรื่องมลพิษทางอากาศ
การดูแลที่ป่าไม้ มิใช่หน้าที่เฉพาะของกรมป่าไม้เพียงกรมเดียว เพราะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีกรมที่ดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรตามป่าเขา และทะเล นอกจากกรมป่าไม้ คือ ในปี 2545 ได้แยกส่วนงานอุทยานแห่งชาติ การดูแลสัตว์ป่า ตั้งเป็นกรมใหม่ในชื่อ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” และส่วนงานทรัพยากรทางทะเล เป็นกรมใหม่ในชื่อ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” ยิ่งบางพื้นที่มีทั้งเขตป่าสงวน และเขตอุทยานในพื้นที่อำเภอ หรือจังหวัดเดียวกัน กรมป่าไม้จึงมิได้มีป่าให้ดูแลทั้งหมดตามที่ชาวบ้านเข้าใจ แต่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่สำคัญคือ ควบคุม กำกับ ดูแล ป้องกันการบุกรุก การทำลายป่า และการกระทำผิดในพื้นที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยสวนป่า กฎหมายว่าด้วยเลื่อยโซ่ยนต์ กฎหมายว่าด้วยป่าชุมชน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
บทบาทของกรมป่าไม้มีมากยิ่งขึ้น หลังประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ในปี 2560 จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ปี 2561 ตามมติ ครม. 26 พ.ย. 2561 เรื่องพื้นที่เป้าหมาย และกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย ในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ปี 2562 มีภารกิจสำคัญมากคือ 1) จัดตั้งสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ สำนักการป่าไม้ต่างประเทศ และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 2) ประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 (ยกเลิกไม้หวงห้ามในที่ดินกรรมสิทธิ์) 3) ประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะกรรมการ นโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562 4) ประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562 5) ครม. เห็นชอบนโยบายป่าไม้แห่งชาติฉบับใหม่
วกมาพูดถึงเรื่องป่าไม้ ปัจจุบันบนดอยยังมีป่า ที่ยังเชื่อกันว่าต้นไม้บนสันเขามันทำให้ฝนตก แต่ทุ่งนาแถบภาคกลางหาป่าไม่เจอ แม้จะมีโครงการปลูกป่าก็ต้องรอระยะเวลาให้มีต้นไม้โต ไร่อ้อยคนเห็นแก่ตัวก็จะเผาแทนที่จะไถกลบ จึงเกิดปัญหาหมอกควันขึ้น
ในการทำไร่ของชาวบ้านบนเขาแม้ไม่ให้ทำในพื้นที่สโลปเอียง 45 องศา แต่ภาพที่เห็นทำไร่เลื่อนลอยยังมี แม้จะอ้างว่ามันเป็นไร่สวนทำกินของชาวบ้านที่เขากันไว้แล้ว แต่ถามว่าใครหรือหน่วยงานใดเป็นผู้ทำแนวเขต และได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะมันเท่ากับเป็นการบุกรุกป่า อีกประเด็นแย้งว่าป่าเกิดขึ้นก่อนหรือคนบนเขาทำสวนทำไรมาก่อน แบบชาวบ้านไปทำกินแบบไปเจาะป่า หักร้างถางพงมาก่อนนานแล้ว ที่ไม่นับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ยังมีพื้นที่อื่นเช่น เขตพื้นที่อีสาน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมาทั้งอำเภอส่วนใหญ่เป็นเขตป่า เป็นพื้นที่ ส.ป.ก. เป็นต้น เพราะอาชีพคนบนเขาก็มีอยู่แค่ทำสวนทำไร่ ป่าปัจจุบันที่เหลืออยู่จึงเป็นป่าผืนสุดท้ายที่ชาวบ้านเขาต้องอนุรักษ์ไว้ คงต้องหันกลับไปโฟกัสที่คนเมืองที่ปล่อยสารพิษมลพิษด้วย เพราะความผิดทั้งหลายคงมิใช่เกิดจากคนบนเขาอย่างเดียว
โครงการหลวงในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนทำดี ไม่ทำลายป่า ป่าก็อุดมสมบูรณ์ มีส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักปลอดสารเคมี ดีทั้งสุขภาพและระบบนิเวศสภาพอากาศ
สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนไม่ใช่แค่ประเทศไทยทั่วโลก (Global) แต่คนไม่เห็นความสำคัญ ใครทำให้มีภาวะโลกร้อน คนบนดอยเผาป่ากันทำให้โลกร้อนขึ้นจริง แต่คนในเมืองไม่มีต้นไม้เลย ก็ร้อนเหมือนกัน บนดอยสูงยังมีต้นไม้อากาศเย็นสบายดีกว่าอากาศในเมือง ความจริงตอนนี้ก็คือพื้นที่ใดที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนกันแน่ ต้องเอากันให้ชัด ให้คนในเมืองปลูกป่าในนาเพื่อให้อากาศดีขึ้นคงเป็นไปยาก เพราะที่นามีแต่จะกลายเป็นตึก หรือไม่ก็ไม่เหมาะที่จะปลูกป่า นอกจากนี้วิถีของปัจจุบันกับอดีตต่างกัน การเปลี่ยนแนวทางทำมาหากินก็ต้องให้ดีขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่าง สวนป่าในเมืองก็มีใน กทม.พื้นที่สีเขียว ก็มีสวนสาธารณะ เช่น สวนสิริกิติ์(จตุจักร) แถวสวนผลไม้บางมด (แขวงบางมด เขตทุ่งครุและและเขตจอมทอง) ต้นไม้เยอะแยะเพราะ กทม.บางที่ก็เป็นสวนเป็นนา มีสวนสาธารณะสวยๆต้นไม้เยอะ อย่าเอาแค่รูปภาพมาเปรียบ แถวพระรามสองก็เป็นสวนผลไม้เยอะ
ในเมืองที่เจริญแล้วปลูกต้นไม้ไม่ได้ ใบไม้ปลิวไปตกพื้นที่คนอื่นก็มีปัญหาพิพาทกัน บ้านคนเมืองเป็นคอนกรีตปลูกต้นไม้ไม่ได้ บ้านคนบนดอยก็ยังสร้างด้วยเศษไม้ เป็นบ้านหมุนเวียนที่ 2-3 ปีเปลี่ยนครั้ง ทั้งฝาบ้านหลังคาบ้าน (หญ้าคา ไม้ไผ่) นโยบายช่วยลดโลกร้อนควรกำหนดพื้นที่จังหวัดให้มีพื้นที่ป่า 50 % ที่หมายรวมพื้นที่ทั้งหมดทั้งบนเขาและพื้นราบด้วย คนส่วนมากจะมองแต่คนบนดอยบนเขา จะเอาสภาพภูมิประเทศพื้นที่ในแต่ละจังหวัดมาเปรียบกันไม่ได้ เอาพื้นที่ป่าภาคกลางมาเทียบภาคเหนือคงไม่ได้ เทียบปริมาณป่าบนเขากับพื้นราบเทียบกันไม่ได้ เพราะเมื่อก่อนหลายพื้นที่ก็เป็นป่าเหมือนกัน แต่ปัจจุบันภาคกลางเป็นพื้นราบเกือบทั้งหมด คนบนเขาไม่ได้ทำไร่ทำสวนอย่างเดียว อาจมีบางพื้นที่ทำเหมืองแร่ ที่ต้องขุดเจาะภูเขาโดยคนเมือง เป็นต้น