สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์

พระมเหศวร กรุวัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี 1 ใน 5 พระยอดขุนพลของเมืองไทย เป็นพระ พิมพ์ที่เป็นที่นิยมมาแต่โบราณ บางคนเข้าใจว่าเป็นชื่อของจอมโจรคนดังแถบเมืองสุพรรณนามว่า "เสือมเหศวร" แต่ความจริงไม่เกี่ยวกันเลย ชื่อ "พระมเหศวร" มาจากเอกลักษณ์ขององค์พระที่มีรูปพระทั้งสองด้าน แต่กลับหัวลงในลักษณะสวนกันระหว่างด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณที่ทำให้ส่วนพระศอ หรือ ลำคอ ขององค์พระมีความหนาแข็งแกร่งไม่หักได้ง่าย จึงเรียกกันมาแต่ก่อนว่า "พระสวน" ส่วนคำว่า "มเห" แปลว่ายิ่งใหญ่

ชี้ตำหนิ มเหศวร

พระมเหศวร ที่พบมีมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ ซึ่งแต่เดิมที่เป็นที่นิยมเล่นหากันไม่กี่พิมพ์ไม่กี่แบบ และ ที่เป็นพิมพ์นิยมได้แก่ พิมพ์มีขีดที่พื้นผนังเหนือเศียรองค์พระ เรียกว่า "พิมพ์สิบโท สิบเอก" ส่วนพิมพ์ ไม่มีขีดนั้นเรียกว่า "พิมพ์ไม่มีบั้ง" มีทั้งพิมพ์หน้าใหญ่ (นิยม) พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าเล็ก ซึ่งความจริงขีด ที่ปรากฏแทนความหมายของพระศรีมหาโพธิ์ ขีดบั้ง คือ ใบโพธิ์ โดยรวมก็คือองค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัยใต้โพธิบัลลังก์นั่นเอง แต่ด้วยความหายากขึ้นทุกวัน ปัจจุบันจึงเล่นหากันทุกพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็น สวนเดี่ยว สวนตรง พิมพ์หน้าเดียว พิมพ์สองหน้า บางครั้งพบ "พิมพ์พิเศษ" ที่ด้านหน้าเป็น พระมเหศวร แต่ด้านหลังเป็นพระนาคปรก หรือเป็นพระซุ้มจิก ซึ่งหาค่อนข้างยาก ก็ล้วนแต่มีราคาค่างวดทั้งสิ้น

พระมเหศวร พิมพ์เล็ก เนื้อชินเงิน

ลักษณะกรอบพระมเหศวรทั้ง 4 พิมพ์นั้นเหมือนกันคือ มีลักษณะเหมือนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เว้ากลางทั้ง 2 ข้าง มีองค์พระทั้ง 2 ด้าน แต่นั่งหันพระเศียรสวนกลับทางกัน มีลักษณะและจุดสังเกตดังต่อไปนี้

พระมเหศวร พิมพ์ใหญ่ เนื้อชินเงิน

-  พุทธลักษณะ องค์พระนั่งปางสะดุ้งมารทั้ง 4 พิมพ์ สถิตอยู่เหนืออาสนะฐานหมอนสองชั้น

-  พระเกศจิ่มมน อยู่บนพระเมาลี (เป็นสองหยัก)  ไม่ปรากฏเม็ดพระศก แต่มีไรพระเกศา (ไรผม) สูงเด่น

-  พระพักตร์เข้มขรึม แสดงออกถึงตบะอันแก่กล้า น่าเกรงขาม

-  พระเนตร (ตา) โปนออกมาทั้ง 2 ข้าง (แบบตาตั๊กแตน)

พระมเหศวร พิมพ์กลาง เนื้อชินเงิน

-   พระนาสิก (จมูก) นูนสูง

-   พระโอษฐ์ (ปาก) แบะออกยื่นออกมา

- พระอังสา (บ่า ไหล่) ทั้งสองข้างมนกลม ข้างซ้ายลาดตํ่ากว่าด้านขวาขององค์พระ

- พระพาหา (แขนช่วงตั้งแต่ไหล่ถึงข้อศอก) และพระกร (ตั้งแต่ข้อศอกถึงข้อมือ) ข้างซ้ายองค์พระมนกลม มีรอยต่อที่พระกโบร (ข้อศอก) เห็นได้ชัดเจน

พระมเหศวร พิมพ์หน้าใหญ่ เนื้อชินเงิน

-  พระหัตถ์ข้างซ้ายค่อนข้างใหญ่มาก มีสัณฐานคล้ายกล้ามปู (คล้ายพระหัตถ์พระผงสุพรรณไม่มี ผิดเพี้ยนเลย) และงุ้มเข้าด้านใน

-  อังสะและสังฆาฏิเป็นเส้นกลมตรงและแข็งทื่อ                     

- ข้างพระเศียรด้านข้างมีขีดอยู่ 3 ขีด และด้านซ้ายมี 2 ขีด อันเป็นเอกลักษณ์ของพระมเหศวรพิมพ์ หน้าใหญ่

- ขนาดพระมเหศวรพิมพ์หน้าใหญ่นี้ กว้างสุดประมาณ 2 ซม. ความสูงประมาณ 3.3/4 ซม.

พระมเหศวรพิมพ์สวนเดี่ยว เนื้อชินเงิน

พระมเหศวร เป็นพระยอดขุนพลชั้นนำที่สุดของจังหวัดสุพรรณบุรี มีเฉพาะที่กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แห่งเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ยังสร้างพร้อมกับพระผงสุพรรณที่เลื่องชื่อ ดังนั้นพุทธคุณจึงเยี่ยมยอดเหมือนกันคือ เป็นเลิศด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด โดยเฉพาะด้านคงกระพันชาตรี จึงไม่ต้องสงสัยเกี่ยวกับเรื่องทำเทียม เลียนแบบ ผู้สนใจ ต้องศึกษาเรื่องการพิจารณาพระแท้ในเบื้องต้นไว้บ้าง ครับผม

พระมเหศวรพิมพ์หน้าใหญ่ เศียรโตฐานเตี้ย