เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 67 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า QS Quacquarelli Symonds (QS) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลก ประกาศเผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกประจำปี 2025 ซึ่งเป็นการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนานาชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยเป็นกรอบการจัดอันดับเพียงแห่งเดียวที่ประเมินทั้งความสามารถในการจ้างงานและปัจจัยด้านความยั่งยืน 

สำหรับ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS ประจำปี 2025 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงรักษาตำแหน่งสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย แม้ว่าอันดับโลกจะลดลง 18 อันดับ อยู่ที่อันดับที่ 229 ในปีนี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอันดับสองของไทย ขยับอันดับขึ้น 15 อันดับในปีนี้ ไปอยู่อันดับที่ 368 ร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ

ขณะที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ยังคงครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 13 ติดต่อกัน ในขณะที่ อิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) รักษาอันดับ 2 ไว้ได้เช่นเดียวกับปี 2014  มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) คว้าอันดับ 3 ร่วมกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ส่วนมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) รั้งอันดับ 5 สถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย (Caltech) เป็นสถาบันเดียวที่สามารถเข้ามาอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลกในปีนี้ นอกจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาแล้ว สวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์เป็นเพียง 2 ประเทศที่มีสถาบันอยู่ใน Top 10 โดยมี ETH Zurich และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) อยู่ในอันดับที่ 7 และ 8 ตามลำดับ 

อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก QS ประจำปี 2025 ครั้งนี้ ประเมินมหาวิทยาลัย 1,500 แห่ง จาก 106 ระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยสหรัฐอเมริกาส่งสถาบันเข้าร่วมการจัดอันดับมากที่สุด โดยมีสถาบันที่ติดอันดับ 197 แห่ง ตามมาด้วยสหราชอาณาจักร 90 แห่ง และจีน (แผ่นดินใหญ่) 71 แห่ง ประเทศไทยมีสถาบันที่ติดอันดับ 13 แห่ง ในจำนวนนี้ 3 แห่ง มีอันดับดีขึ้น 5 แห่ง มีอันดับลดลง และอีก 5 แห่ง ยังคงอยู่ในอันดับเดิม ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น 23%

สำหรับภาพรวมสถาบันการศึกษาในประเทศไทย พบว่า สถาบันการศึกษากว่า 69% ของไทย มีคะแนนด้านชื่อเสียงทางวิชาการ (Academic Reputation) ที่ดีขึ้นในปี 2025 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดอันดับ Top 100 ของโลกในตัวชี้วัดนี้ ซึ่งอยู่อันดับที่ 97

มหาวิทยาลัยไทยที่ติดอันดับ (54%) มากกว่าครึ่ง ปรับอันดับดีขึ้นในตัวชี้วัดเครือข่ายวิจัยระหว่างประเทศ (International Research Network) ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า สถาบันการศึกษากำลังสร้างและรักษาความร่วมมือด้านการวิจัย เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาของโลกและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีความสำคัญไปสู่สาธารณะ

สถานการณ์การศึกษาไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อมหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งประสบปัญหาคะแนนความเชื่อมั่นของ นายจ้าง (Employer Reputation) ลดลง 100% ประกอบกับ ผลลัพธ์ด้านการมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา (Employment Outcomes) ถดถอยลงถึง 92% สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสการมีงานทำของบัณฑิตไทยที่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ แม้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะยังคงรักษาอันดับ Top 100 ของโลกด้านผลลัพธ์การมีงานทำของผู้สำเร็จการศึกษา แต่ก็ร่วงลงถึง 16 อันดับ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ควรมองข้าม

 

#จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย #ข่าววันนี้