เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกรณีร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 3 เรื่อง ดังนี้

เรื่องที่ 1 กรณีนายทวีป บุตรโพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER

เรื่องที่ 1 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อดำเนินการไต่สวน
กรณีกล่าวหานายทวีป บุตรโพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสเกิน 3,000 บาท

จากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2558 ซึ่งเป็นวันที่นายทวีป บุตรโพธิ์ เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีปได้รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA0910 SERIED RZE9871 ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลที่มาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่

ซึ่งเป็นการรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่ญาติ และมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกิน 3,000 บาท และหลังจากรับนาฬิกาดังกล่าวมาแล้ว ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง โดยมิได้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นในการรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนต่อผู้บังคับบัญชา

จนกระทั่งมีการร้องเรียน กรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. นายทวีปจึงได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ก.ย.2562 รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชา และส่งมอบนาฬิกาคืนให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นการส่งมอบคืนภายหลังได้รับทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้ การกระทำของนายทวีป มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่ออก

โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่น โดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2543 (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป

กรณี นายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อสั่งไม่ฟ้อง

เรื่องที่ 2 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน

กรณีกล่าวหา นายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อสั่งไม่ฟ้อง ผู้ต้องหาในสำนวนคดีอาญาของสำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ระหว่างวันที่ 14-29 พ.ย.2561 นายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก ได้นัดพบและติดต่อกับกลุ่มผู้ต้องหา ในสำนวนคดีอาญา ส.1 เลขรับที่ 1854/2561 ของสำนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก

ซึ่งถูกดำเนินคดี ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยที่นายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย มิได้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับสำนวนคดีดังกล่าว และได้แจ้งกับกลุ่มผู้ต้องหาในทำนองว่า จะหาวิธีช่วยเหลือ เพื่อสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ต้องจ่ายค่าดูแลผู้ใหญ่ประมาณหลักแสนบาท เป็นการตอบแทน

การกระทำของนายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย จึงเป็นการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากกลุ่มผู้ต้องหาเพื่อเป็นการตอบแทน ในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งคดี โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมาย เพื่อให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่กลุ่มผู้ต้องหาด้วยการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้ การกระทำของนายปริญ หรือประการ ทองดอนน้อย มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 175 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง

ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญา และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98

กรณี กรณีกล่าวหานายสมาน สะแต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ร่ำรวยผิดปกติ

เรื่องที่ 3 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายคณะไต่สวนเบื้องต้นเพื่อดำเนินการไต่สวน

กรณีกล่าวหานายสมาน สะแต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา ร่ำรวยผิดปกติ

ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า นายสมาน สะแต ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2555 ในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559

ระหว่างดำรงตำแหน่งดังกล่าว นายสมาน สะแต ได้ทำรายการฝากเงินสดเข้าบัญชีเงินฝากของตนเอง และบัญชีเงินฝากของบุตร รวมเป็นเงิน 12,216,558.84 บาท ซึ่งเกินไปจากรายได้ที่สามารถพิสูจน์ได้ จากการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงปี พ.ศ. 2555-2559 รวมจำนวน 4,727,970.15 บาท และรายได้จากการลงทุนประกอบกิจการขายสัตว์ทะเล เมื่อปี พ.ศ.2556 จำนวน 1,738,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,750,588.69 บาท

และเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2557 นายสมาน สะแต ได้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ BMW หมายเลขทะเบียน กข 999 ยะลา โดยชำระเป็นเงินสด 3,799,000 บาท ทั้งที่คู่สมรสของนายสมาน สะแต เป็นลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ มีรายได้เพียงปีละ 166,000-200,000 บาท และไม่ปรากฏว่าบุตรประกอบอาชีพแต่อย่างใด

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้ นายสมาน สะแต ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจ ในตำแหน่งหน้าที่ รวมมูลค่า 9,549,588.69 บาท

ให้ส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน

และให้ส่งคำวินิจฉัย พร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อสั่งลงโทษไล่ออกภายใน 60 วัน โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดี ให้ขอให้อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินประเภทยานพาหนะ รถยนต์ยี่ห้อ BMW หมายเลขทะเบียน กข 999 ยะลา ไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ยกฟ้อง

และหากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินได้ทั้งหมด หรือแต่บางส่วนแล้ว ให้ขอให้ศาลบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในระยะเวลา 10 ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 125