ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

ไม่มีสังคมใดถูกทิ้งไว้เบื้องหลังหรือหยุดนิ่ง ทุกสังคมล้วนแต่ถูกเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไป

พ่อกับแม่บ่นเสมอ ๆ ว่า เลี้ยงเฌอปรางได้แต่ตัว แต่เรื่องความคิดและนิสัยใจคอนั้นเป็นไปตามสังคมข้างนอก ครั้งที่พ่อกับแม่ยังเด็ก ครอบครัวของคนทั้งสองเป็นครอบครัวที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกันหลาย ๆ คน ไม่เพียงแต่ที่แต่ละครอบครัวจะมีลูกหลายคนแล้ว แต่ละครอบครัวก็จะมีญาติพี่น้องมาอยู่ด้วยอีกมากมาย ว่าไปแล้วก็มีความอบอุ่นมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งก็มีปัญหาวุ่นวายเยอะแยะเช่นกัน สมัยก่อนนั้นไปไหนมาไหนก็ยังลำบาก ถนนหนทางก็มีน้อยและเดินทางยุ่งยาก การติดต่อพูดคุยก็ใช้โทรศัพท์แบบที่มีสายและขอมาติดตั้งได้ยากมาก ค่าโทรก็แพง ฯลฯ มีปัญหามากมาย แต่ในยุคที่เฌอปรางเติบโตมา โทรศัพท์มือถือกำลังแพร่หลาย แม้จะมีราคาแพงแต่ก็ถูกกว่าค่าติดตั้งโทรศัพท์บ้าน ถนนหนทางก็ดีขึ้น มีทางด่วนและโทลล์เวย์ผุดขึ้นทั่วกรุง รถไฟฟ้า(ใต้ดิน)ก็กำลังก่อสร้าง เรียกว่าเป็นยุคแห่งการติดต่อสื่อสาร หรือโลกในยุคคลื่นลูกที่สาม ที่สั่งสอนกันว่า คนที่รู้ดีหรือมีข่าวสารมากที่สุดจะเป็นผู้ที่มีพลังอำนาจมากที่สุด

ทว่า “พลังการสื่อสาร” จะเกิดขึ้นได้ คน ๆ นั้นก็ต้องมีการสื่อสารกับคนอื่นอยู่เสมอ เพื่อให้มีปริมาณข่าวสารที่พอเพียง พร้อมกับการเลือกสรรข่าวสาร คือการใช้ปัญญาคิดวิเคราะห์แยกแยะและนำไปใช้ประโยชน์ แต่ว่าคนในวัยและยุคของเฌอปราง ไม่เพียงแต่จะมีสังคมแคบ คือเลือกอยู่เลือกคบกับผู้คนเพียงบางคนบางพวก ยังถูกชักจูงโดยคนที่พวกเขาเลือกฟังเลือกเชื่อเหล่านั้น ให้มีความรู้แบบจำกัดหรือคับแคบยิ่งขึ้นไปด้วย ตั้งแต่ที่เรียนหนังสือในชั้นเยาวชนก็เรียนตามที่ครูสอนและสั่ง พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยึดติดกับ “ไอดอล” หลงใหลติดตามแค่คนที่ “ติดใจ” และพยายามที่จะเป็นอย่างคน ๆ นั้น กระทั่งเมื่อจะต้องทำอะไรด้วยตนเอง ก็เชื่อมั่นตัวเองอย่างสูงว่าจะทำได้หรือ “เป็น” แบบคน ๆ นั้น

เฌอปรางเป็นหนึ่งในจำนวน “มนุษย์ผู้ยึดติดไอดอล” หลายล้านคนที่เติบโตมาในยุคของการสื่อสารที่ถูกบิดเบือน  คือ “คับแคบและเฉพาะกลุ่ม” ดังกล่าว อันน่าจะเกิดจากการที่เยาวชนในยุคนี้ “เกียจคร้าน” ที่จะศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองอย่างทุ่มเท เยาวชนในยุคนี้เรียกร้องที่จะให้ครูอาจารย์มาสนใจเอาใจใส่ (แต่ความจริงคือให้มา “เอาใจ” เยาวชนทั้งหลายนี้มากกว่า)คุณภาพการเรียนการสอน อันเป็นที่มาของแนวคิดที่จะให้ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” แต่นั่นแทนที่จะเป็นการเรียนแบบที่นักเรียนต้องเรียนด้วยตนเองให้มาก กลับเป็นว่าครูอาจารย์ต้อง “ป้อน” ความรู้ให้กับนักเรียนให้มาก ๆ ดังจะเห็นได้จากการเรียนการสอนที่เน้นการทำคู่มือให้นักเรียนเป็นจำนวนมาก ๆ ในหลาย ๆ วิชา การใช้การประเมินผลงาน ที่เรียกว่า “โปรไฟล์” ของนักเรียน แต่นักเรียนก็ใช้วิธีตัดแปะหรือให้พ่อแม่ รวมถึง “มือรับจ้าง” ต่าง ๆ ช่วยทำให้ ส่วนครูก็ต้องเสียเวลาเป็นอย่างมากในการกรอกแบบฟอร์มและทำรายงานต่าง ๆ ประกอบการสอนเหล่านั้น เพื่อเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือนหรือปรับวิทยฐานะ (ไม่เว้นแม้แต่ในมหาวิทยาลัย ที่ระบบนี้ได้ไปทำลายคุณภาพการเรียนการสอนให้ย่ำแย่ลงไปด้วย เพราะผู้สอนมัวแต่ต้องทำงานให้ครบตามจำนวนที่ทำสัญญาเพื่อรับผลการประเมิน จนไม่มีเวลาที่จะไปพัฒนาตนเองหรือพัฒนาการเรียนการสอน)

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความก้าวหน้าของโลกการสื่อสาร เมื่ออินเตอร์เน็ตทำได้ทุกอย่าง กระบวนการเรียนรู้ในทุกระดับก็อาศัยการค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ตนี้เป็นหลัก ทุกคนอ่านหนังสือน้อยลง แม้จะเข้าไปอ่านในอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็อ่านแบบ “เจาะ” คือเพียงเพื่อได้สิ่งที่ต้องการ เมื่อค้นได้พบแล้วก็หยุด การสนทนาโต้ตอบในอินเตอร์เน็ตก็ทำกันในวงแคบ ๆ อย่างแรกก็เพราะต้องทำในเวลาที่จำกัด และอย่างต่อมาก็คือแค่สื่อสารกันเป็นพิธี อย่างการเรียนหรือการประชุมในระบบออนไลน์ ก็มีประสิทธิภาพหรือสร้างความสัมพันธ์แบบที่มาประชุมโดยเผชิญหน้ากัน หรือ “ออนไซต์” นั้นไม่ได้ แต่ที่สร้างปัญหามากที่สุดก็คือ มักจะเป็นการสื่อสารเฉพาะกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นในเฟสบุ๊คที่ใช้กันมากในตอนแรก ๆ ไลน์และติ๊กต๊อกในตอนนี้ และที่มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ มาให้ใช้อยู่เรื่อย ๆ นี้ โลกทุกวันนี้อาจจะเข้าไปสู่ “มรสุมคลื่นลูกที่สาม” แล้วก็ได้ คือโลกแห่งการสื่อสารที่ว่าเปิดกว้าง กลับทำให้ผู้คนเคว้งคว้างอยู่ในห้องแคบ ๆ แบบพวกใครพวกมัน เช่นที่กำลังเป็นอยู่นี้

ชีวิตของเฌอปรางก็เหมือนกันกับคนในยุคนี้อีกหลายคน แม้ว่าในช่วงต้นของชีวิตจะถูกประคบประหงมและเลี้ยงดูมาอย่างพิถีพิถันจากครอบครัว แต่พอเมื่อต้องออกมาสู่สังคมที่ต้องสัมผัสกับโลกภายนอกมากขึ้น เฌอปรางก็ยังใช้วิธีคิดแบบเดิม ๆ คือ “เลือกในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุด” ซึ่งในโลกภายนอกก็มีการแข่งขันที่จะสร้างโลกที่ดีที่สุดในแบบต่าง ๆ ของคนแต่ละกลุ่มนั้นด้วย อย่างเช่น “การปกครองที่ดีที่สุด” เป็นต้น

ชีวิตในมหาวิทยาลัย เฌอปรางเหมือนจะถูกห่อหุ้มด้วยบรรยากาศของการที่จะต้องรู้อะไร “เหมือน ๆ กัน” แบบว่าถ้าไม่รู้แล้ว “จะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง” อย่างที่มีนักศึกษากลุ่มใหญ่สนใจและติดตามฟังอาจารย์ที่จบจากฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งเฌอปรางก็ต้องทำตัวให้เป็นเหมือนนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย เมื่ออาจารย์ท่านว่าระบอบกษัตริย์ของไทยไม่ดี แรก ๆ เฌอปรางก็งง ๆ เพราะตอนเรียนในชั้นประถมและมัธยมก็ไม่เคยมีครูหรืออาจารย์คนไหนมาตำหนิระบอบนี้ ยิ่งพอเฌอปรางต้องเข้าไปคุยในห้องสนทนาของกลุ่ม ก็ยิ่งสงสัยหนักเข้าไปอีก เพราะดูรุนแรงและร้ายแรงจนเหลือรับ แต่ก็ต้องไม่แสดงความเห็นคัดค้านอะไรในกลุ่ม นั่นก็เพื่อรักษาตัวเองให้คงอยู่ในหน้าสนทนานั้นต่อไป รวมถึงให้ได้เป็นที่คบหาและเชื่อถือกันและกันหมู่เพื่อนในห้องสนทนานั้นด้วย

ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรปี 2562 เฌอปรางเพิ่งจบปริญญาตรีและกำลังจะไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่รุ่นพี่คนหนึ่งที่จบไปแล้วได้ไปสมัครรับเลือกตั้งและต้องการผู้ช่วยหาเสียงจำนวนหนึ่ง เพื่อน ๆ ของเฌอปรางได้ชวนเฌอปรางไปร่วมงานด้วย จึงได้เห็นว่าการทำงานเพื่อประชาชนนี้ก็ดูน่าสนใจมาก โดยเฉพาะประชาชนจำนวนมากที่ยังยากจน ซึ่งพรรคการเมืองที่รุ่นพี่คนนี้ลงสมัคร บอกกับประชาชนว่าต้องเปลี่ยนแปลง “โครงสร้างส่วนบน” คือพวกชนชั้นปกครอง แล้วพวกเราที่เป็น “โครงสร้างส่วนล่าง” จึงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฌอปรางก็ได้ร่วมประชุมและรับฟังประเด็นหาเสียงเหล่านี้มาอย่างละเอียดจากการประชุมสัมมนาของพรรค จนกระทั่งคิดว่าพรรคนี้จะสามารถนำประเทศให้รอดและรุ่งเรืองได้จริง ๆ ซึ่งเมื่อเฌอปรางจบปริญญาโทและกลับมาทำงานแล้วความคิดนี้ก็ยังฝังหัวอยู่ จนกระทั่งเธอมาลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2566 และสามารถชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรได้อีกคนหนึ่ง

“แนวคิดและการมองโลก” ของคนในกลุ่มของเฌอปรางนี้น่าสนใจมาก ๆ โดยเฉพาะ “เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ซึ่งผู้คนจำนวนมากมองเห็นแต่เพียงแคบ ๆ ว่า คนพวกนี้ต้องการที่จะเปลี่ยนระบอบกษัตริย์เป็นหลัก รวมถึงคิดที่จะจัดการกับ “พวกอำมาตย์” หรือชนชั้นปกครองในระบอบเก่าเท่านั้น แต่ความจริงคนกลุ่มนี้มีความคิดกว้างไกลกว่าที่หลาย ๆ คนคิด โดยเฉพาะเป้าหมายที่จะเปลี่ยนในทุกโครงสร้างของประเทศ ไม่เพียงแต่โครงสร้างทางการเมืองการปกครอง แต่ยังรวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกระบบนั้นด้วย

สมัยก่อนเราถูกสอนให้กลัวและระวังคอมมิวนิสต์ แต่ในยุคใหม่เราอาจจะต้องกลัวและระวังลูกหลานของเรานี้มากกว่า !