ดนตรี / รุ่งฟ้า ลิ้มหัสนัยกุล

ปลายปีที่แล้ว ยืนยง โอภากุล ประกาศเลิกวง และไม่นานจากนั้นก็ประกาศว่า คาราบาว ยังอยู่ แต่เป็นการทำงานเฉพาะส่วนแสดงสดตามที่ต่างๆ (และอาจจะมีเพลงออกมาให้ฟังกันอีกบ้างในอนาคต)

ปีนี้ เขาออกตัวเป็นคนแรกในวงที่ปล่อยอัลบั้มใหม่ จะว่าใหม่ก็ไม่เชิง เพราะ UFO ชุดนี้ เคยออกมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ครั้งนั้น เป็นงานบูทเลกการกุศลที่ผลิตขึ้นมาแบบเร่งด่วน กลับมาบันทึกเสียงใหม่ให้มีน้ำมีนวลขึ้น สมบูรณ์กลมกล่อมกว่าเดิม-ในแบบครบวง ที่นอกจากตัวเขาเองแล้ว ยังมีสมาชิกรุ่นเล็กของ คาราบาว ได้แก่ ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ, ธนะสิทธิ์ พันธุพงษ์ไทย กับพี่น้องเพื่อนฝูงอย่าง สุเทพ ปานอำพัน อดีตสมาชิก ซูซู-แผ่นดิน (เบสส์) เสริมทีมด้วยคนที่ทำงานด้วยกันมานาน ชวลิต ฉลอม และ ภูวกฤต นนท์ธนธาดา มารวมตัวกันเป็น ทัมมาเรา (tamaraw) หรือควายแคระในภาษาตากาล็อก

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเป็นงานเดี่ยว ยืนยง ก็เป็นอิสระจาก คาราบาว แต่ไม่หมดจดเสียทีเดียว เพราะถึงที่สุดแล้ว เสียงของ ยืนยง ก็เป็นเสียง “หลัก” ของวง แต่ที่ว่าเป็นอิสระ-หมายถึง เขาไม่ต้องพะวงถึงเพื่อนสมาชิกที่กอดคอกันมายาวนานอย่าง ปรีชา ชนะภัย กับ เทียรี่ เมฆวัฒนา สามารถนำเสนอสิ่งที่ตัวเองต้องการได้เต็มที่ โดยเฉพาะตัวดนตรีและเรื่องเล่า เหมือนอย่างที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดีจากงานเดี่ยวชุดเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็น “ทำมือ”, “โนพลอมแพลม”, World Folk Zen หรือแม้แต่ “พฤษภา” งานที่ทำร่วมกับ ยิ่งยง แฝดพี่

สิบเพลงที่บันทึกเสียงใหม่กับสี่เพลงเดโมจากบูทเลกใน UFO มีทุกอย่างครบถ้วนจากที่เคยรู้จักนักร้อง/นักแต่งเพลงรุ่นใหญ่คนนี้ยาวนานกว่าสี่ทศวรรษ ยกเว้นก็แต่เรื่องการเมือง-ที่เขาเลือกจะหลบ และเขียนถึงอ้อมๆ อย่างในเพลง  “ครูโชคดี ลุงธง แจ่มศรี” หยิบยกเอาเรื่องราวช่วงท้ายๆเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาเล่าเป็นเรื่องราวตามถนัด หรือแม้แต่เพลงสิ่งแวดล้อมอย่าง “ไฟป่า” กับ “จดหมายจากทับลาน” ก็แอบแวะไปจิกกัดนักการเมืองเล็กๆ พอคันๆ

เรื่องหลักใน UFO เป็นการตกผลึกจากประสบการณ์ชีวิตรวมถึงการศึกษาธรรมะจริงจัง ชัดเจนใน “กลับมารู้สึกตัว” และ “หรี่ตา” ที่บอกให้อยู่กับปัจจุบันขณะ ให้คนมีสติในการใช้ชีวิต มองลึกเข้าไปในใจตัวเอง ผ่านภาษาง่ายๆแต่เต็มไปด้วยความหมายชวนคิด ทั้งสีดนตรีและเนื้อเพลงชวนให้คิดถึง “ทะเลใจ” และอีกหลายเพลงในยุคเดียวกัน ขณะที่  “อย่าเพิ่งตาย” กับ “แก่เกินแกง”  สองเพลงที่ (น่าจะ) เขียนให้ตัวเองโดยตรง (ฮา) ว่าด้วยคนแก่หรือความแก่ เพลงแรกมาในโทนเข้าใจโลกแบบโฟล์คนุ่มนวล ส่วนเพลงหลังออกไปทางกวนๆกับเซาเธิร์น-ร็อคสนุกๆ

นอกจากนี้แล้ว ยืนยง ก็ยังมีเรื่องเล่าอีกหลากหลายแง่มุม “UFO” เพลงชื่อเดียวกับอัลบั้มได้แรงบันดาลใจมาจากความคิดของ พีท ทองเจือ เรื่องมนุษย์ต่างดาว ต่อยอดมาเป็นบทเพลงเรียกร้องสันติภาพ, “อาจารย์ยอด” อีกหนึ่งลายเซ็นของ ยืนยง ที่มักจะเขียนถึงบุคคลที่น่าสนใจ เพลงนี้พูดถึงอดีตนักพากย์ที่ต่อมากลายเป็นยูทูบเบอร์ดังที่เล่าเรื่องธรรมะง่ายๆให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ และ “จนบุญ” เพลงเดียวในอัลบั้มที่มีความรักเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อเขาเปรียบเทียบการทำบุญกับการซื้อใจผู้หญิง-ที่ท้ายสุดแล้วก็ไม่สมหวัง

เชื่อว่าคนที่เป็นแฟนเพลง คาราบาว และ ยืนยง เองก็คงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรที่แปลกใหม่ในอัลบั้มชุดนี้ แต่ความรู้สึกคุ้นเคยเดิมๆที่ผ่านการทำงานแบบมืออาชีพ-ก็ทำให้งานชุดนี้ “กลมกล่อม” และน่าฟังอย่างยิ่ง-โดยเฉพาะกับคนที่หลงรักความลุ่มลึกในการเล่าเรื่องของ ยืนยง โอภากุล ไม่ใช่งานเอาเร็วตามกระแสอย่างที่เป็นมา
 

 

ขอบคุณภาพจาก วอร์เนอร์ มิวสิค ประเทศไทย