นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กล่าวคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณแยกเกียกกายว่า ช่วงที่ 1 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี งบประมาณ กทม.100% จำนวน 727,503,000 บาท ระยะเวลาดําเนินการ 450 วัน จุดเริ่มต้นโครงการจากถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ สิ้นสุดบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อสร้างเป็นทางยกระดับต่อจากสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในฝั่งธนบุรี ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร และปรับภูมิทัศน์ใต้สะพานฝั่งธนบุรี ระยะทางประมาณ 1,140 เมตร
ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการมีความคืบหน้า 4-5% โดยลงนามสัญญาจ้าง บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด เริ่มสัญญาวันที่ 30 พ.ย.2566 สิ้นสุดสัญญา วันที่ 18 พ.ย.2568 ผลงานคืบหน้าจนถึงปัจจุบัน ผู้รับจ้างได้ทำการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเคลียร์พื้นที่แล้ว
ส่วนช่วงที่ 2 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทางขึ้นลง งบประมาณก่อสร้าง 925,079,864.41 บาท โดยรัฐบาลอุดหนุน 50% และงบกทม.อีก 50% ระยะเวลาดําเนินการ 900 วัน จุดเริ่มต้นบริเวณริมแม่น้ำพระยาฝังธนบุรี สิ้นสุดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งพระนคร หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี รูปแบบก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 6 ช่องจราจร ความกว้างสะพาน 32 เมตร ความยาวประมาณ 350 เมตร ลงนามสัญญาจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์ จำกัด เริ่มสัญญา วันที่ 24 มิ.ย.2565 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 9 ธ.ค.2567 ความคืบหน้าล่าสุดอยู่ในขั้นตอนงานก่อสร้างเสาเข็มเจาะและงานฐานราก โครงการมีความคืบหน้า 20% และอยู่ระหว่างขยายอายุสัญญา เนื่องจากติดปัญหาไม่สามารถเข้าพื้นที่ในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ คาดว่าจะขยายเวลา 314 วัน แล้วเสร็จ 19 ต.ค.2568
ช่วงที่ 3 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถึงแยกสะพานแดง ระยะทาง 1,430 เมตร งบประมาณก่อสร้าง 875,000,000 บาท ระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน รูปแบบก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ความกว้าง 16.40 เมตร ยาว 1,130 เมตร พร้อมปรับปรุงถนนพื้นราบ เป็น 6-8 ช่องจราจร ตามข้อบัญญัติงบประมาณเงินอุดหนุน รัฐบาล 50% และงบกทม.อีก 50% ปัจจุบันได้ผู้รับจ้าง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ เนื่องจากต้องรอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ล่าสุด โครงการดังกล่าวไม่ได้รับการบรรจุในวาระงบประมาณปี 2567 ของรัฐบาล ดังนั้นกทม.จึงขอให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณาให้ความเห็นชอบเพิ่มวงเงินงบประมาณเป็น 100% กรอบวงเงิน 980,000,000 บาท เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนงาน ซึ่งคาดว่าสภากทม.จะบรรจุเรื่องดังกล่าว เข้าสู่พิจารณาในการประชุมสภากทม.ในเดือน ก.ค.นี้