วันที่ 6 มิ.ย.67 เกษตรกรชาวสวนมะขามหวานหมู่ที่ 4 ตำบลนาขุม อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ กำลังเร่งฉีดยาฆ่าหนอนคืบระหุ่งที่กำลังระบาดรุมกินดอกมะขามหวานอย่างหนักในขณะนี้ เฉพาะพื้นที่ปลูกมะขามของตำบลนาขุมมีประมาณกว่า 9,000 ไร่ ซึ่งแต่ละรายมีพื้นที่ปลูก 10 ไร่ บ้าง 20 ไร่ มากกว่านี้บ้าง ส่วนใหญ่ปลูกมะขามหวานพันธุ์ศรีชมภู , พันธุ์สีทอง , และมีมะขามเปรี้ยวฝักใหญ่บ้าง ซึ่งในการฉีดยาต้องไม่ต่ำกว่า 3 – 4 ครั้ง มิฉะนั้นหนอนจะไม่ตาย ปีนี้นับว่าหนอนกินดอกมะขามเยอะกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูง หากสวนใดจ้างคนมาฉีดนับว่ามีต้นทุนเพิ่มไปอีก ช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มระบาดหนัก หนอนจะกินจากสวน เมื่อหมดก็ย้ายไปอีกสวน หากฉีดยาพ่นทันความเสียหายจะลดลง และขณะนี้หนอนเริ่มกลายสภาพเป็นตัวดักแด้ การกินดอกมะขามก็จะหยุดไป และต่อไปตัวดักแด้ก็จะออกเป็นผีเสื้อ แล้วสร้างวัฎจักรวางไข่อีกต่อๆไป
ชาวสวน บอกว่า ต้องใช้ยาฉีดฆ่าไปพร้อมยาฉีดยาบำรุงดอก ฟักอ่อน พร้อมๆกันไป หากไม่ฉีดยาป้องกันคืนเดียวดอกหายหมด ลงทุนไปจะเสียหายทั้งหมด โดยปีที่ผ่านมานับว่าราคาดี ส่วนใหญ่พ่อค้าจากจังหวัดเพชรบูรณ์มาจะมารับซื้อกิโลกรัมละ 90 บาท แต่ปีนี้ผลผลิตจะลดลงไปเพราะหนอน หนอนระบาดหนักฉีดยาฆ่า 2 – 3 ครั้ง ก็เอาไม่อยู่ บางตัวเมื่อหล่นตกลงมาก็ต่ายขึ้นไปที่ลำต้นใหม่ แรกๆเมื่อมะขามแตกใบอ่อนจะยังไม่มี เมื่อเริ่มออกดอกเท่านั้นไม่รู้มาจากไหนเต็มไปหมด ยาฆ่าราคาก็สูงขวดละ 400 – 500 บาท ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น มะขามหวานมักจะติดดอกยากอยู่แล้ว ดันมาเจอหนอนอีก ผู้เกี่ยวข้องเช่นเจ้าหน้าที่นักวิชาการเกษตร อบต. นาขุม ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบไปแล้ว ส่วนเกษตรอำเภอบ้านโคกก็ได้ให้คำแนะนำการใช้สารเคมี
ด้านองค์การบริหารส่วนตำบลนาขุม เบื้องต้นได้ให้นักวิชาการเกษตรรับลงทะเบียนแก่ผู้เดือดร้อน โดยได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์ ซึ่งมีเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบที่มาลงรายชื่อกว่า 300 ราย และรายชื่อดังกล่าวจะส่งต่อไปให้ทางอำเภอบ้านโคกและเกษตรอำเภอไปยังจังหวัด โดยที่ผ่านมาอำเภอบ้านโคกได้ประชุมร่วมกับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ในเบื้องต้น อบต.นาขุมได้ให้ความช่วยเหลือไปบ้างแล้ว เช่นค่าเชื้อเพลิง ยาฆ่าแมลง เพราะแต่ละรายความเสียหายไม่เท่ากัน บ้างเป็นหลัก 10,000 บาท มีมากบ้าง น้อยบ้าง เนื่องจากความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
นายจเรวัชร ปลาลาศ เกษตรอำเภอบ้านโคก บอกว่า ขณะนี้อยู่ช่วงฤดูฝนจึงทำให้หนอนคืบระหุ่งระบาดกินดอกมะขามหวาน และในวันนี้เกษตรจังหวัดพร้อมเกษตรอำเภอบ้าน รวมทั้งนักวิชาการจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดพิษณุโลกและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบประเมินสถานะการณ์ว่าอยู่ในระดับเศรษฐกิจหรือไม่ จะมีวิธีการป้องกันควบคุมกำจัดอย่างไร เบื้องต้นได้ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรไปแล้ว โดยใช้สารเคมี ด้านการเยียวยาซึ่งต้องประเมินดูก่อนว่าความเสียหายของผลผลิตอยู่ในระดับใด ซึ่งก็มีระเบียบความช่วยเหลืออยู่ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ หนอนคืบระหุ่งดังกล่าว เมื่อออกไข่จะใช้เวลา 2 , 3 วัน จากนั้นจะกลายเป็นตัวหนอนใช้เวลา 15 – 20 วัน โดยช่วงนี้จะกัดกินดอกมะขามเป็นอาหาร ต่อไปจะเข้าสู่ระบบดักแด้และเป็นผีเสื้อออกมาวางไข่ต้นไม้ครั้งละ 400 ฟองต่อตัว ต่อไป ดังนั้นควรทำกับดักกากน้ำตาลเพื่อลดปริมาณแม่ผีเสื้อ หากลดแม่ผีเสื้อได้ก็จะลดการวางไข่ได้เช่นกัน