ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“คนเราทุกคน...มีความคิดเป็นอาวุธสำคัญของชีวิต" อาวุธที่จะทำให้จิตปัญญายกระดับเพื่อความสูงส่งขึ้น ด้วยวิธีคิดมากมาย..วิธีคิดถือเป็นแกนนำหลักแห่งการเรียนรู้และเข้าใจโลกแห่งชีวิตที่ถาวรและยั่งยืน ผ่านความเชื่อมั่น เข้าใจ ด้วยความเฉลียวฉลาด..อันบังเกิดขึ้นจากสมองในโครงสร้างที่แตกต่างกันออกไป..หลายแง่หลายมุม
นี่คือ..ความเปรียบที่เปรียบดั่งหมวกสวมหัว..ในฐานะแห่งตัวตนอันสมบูรณ์ที่จะสามารถพินิจพิเคราะห์ “สมรรถนะแห่งการคิด” จนกลายเป็น “ตัวตนแห่งตน..ด้วยลักษณะอันทบซ้อน..และมีคุณค่า..”
ปฐมบทแห่งคำกล่าวข้างต้น..คือรากฐานแห่งสาระของ “หมวก 6 ใบ...คิด 6 แบบ” หนังสือที่ว่ากันว่า..สามารถเปิดนัยมิติแห่งการคิดให้กว้างขวางออกไปจากตัวตน..เพื่อจะได้เห็นว่า.. “ความคิด” ในแต่ละแบบแต่ละชนิดนั้น..มีศักยภาพและข้อจำกัดเช่นไร?
และ ..แทนที่เราจะยึดติดกับความคิดแบบใดแบบหนึ่งว่าเป็น “บุคลิก” หรือ เป็น “ตัวตน” ของเรา.. “เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน” ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้..ได้แนะนำและเสนอว่า.. “การคิดอย่างรอบด้าน ..โดยพร้อมที่จะคิดได้หลายแบบ..ในสถานการณ์ต่างๆกันต่างหาก ที่คือ..สิ่งที่จะช่วยให้.."เราสามารถแก้ปัญหา ได้อย่างแท้จริง”
เมื่อเราตระหนักว่า.. “อำนาจของมนุษย์” นั้นขึ้นอยู่กับสมรรถนะแห่งการคิดดั่งว่า..
ความคิดจึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเอาชนะปัญหา ผ่านพ้นจากอุปสรรค และอยู่ในโลก ได้อย่างมีความสุขและมีความหมาย..เรารู้จักโลกและชีวิตโดยอาศัยความคิดเป็นนัยสำคัญ “..แต่มีอยู่บ่อยครั้ง แทนที่เราจะเป็นฝ่ายใช้ความคิด..” ความคิดกลับเป็นนายเหนือเรา โดยเป็นตัวจำกัดกรอบการมองเห็นของเรา ให้ได้เห็นในสิ่งใดก็ตาม..แค่เพียงแง่มุมเดียวเท่านั้น..
..ย้อนหลังไปเมื่อ..ปีพ.ศ.2528..นิตยสารไทม์ได้เลือกให้ “ปีเตอร์ ยูเบอร์รอธ” ขึ้นเป็น “บุคคลแห่งปี”..เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกีฬาโอลิมปิก ณ ลอสแอนเจลิส ประเทศอเมริกา
โดยปกติการจัดกีฬาโอลิมปิก ผู้จัดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในครั้งนั้นชาวเมืองก็ลงมติกันว่าจะไม่นำเงินเทศบาล มาใช้เพื่อการนี้..
แต่ถึงกระนั้น..กีฬาโอลิมปิคที่ ลอสแอนเจลิส ก็สามารถทำกำไรได้ถึง 250 ล้านดอลลาร์ ..ความสำเร็จอันไม่ธรรมดานี้..ถือกันว่าขึ้นอยู่กับ “มโนคติ” (Concept) ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้ในระดับแนวหน้า อย่างมีประสิทธิภาพ..
“ปีเตอร์ ยูเบอร์รอธ” ได้อธิบายถึง “การคิดนอกกรอบ” (Lateral Thinking) อันหมายถึง วิธีการคิดที่ลัดแบบแผนแบบเดิมๆ โดยอาศัยแรงยั่วยุท้าทาย และแรงกระตุ้นใหม่ๆ รวมทั้งความคิดริเริ่ม..
แท้จริงแล้ว.. “ปีเตอร์” ได้เคยฟังความคิดของ “เอ็ดเวิร์ด” มาก่อน..โดยเฉพาะเทคนิควิธีคิดแบบใคร่ครวญ (deliberate thinking) ที่ส่งผลกระทบต่อประเด็นสำคัญ ในการคิดค้นและหยิบยกเอาเทคนิคมาประยุกต์ใช้ โดยขึ้นตรงต่อแต่ละบุคคลเป็นหลัก..
“เอ็ดเวิร์ด” ได้ให้ข้อคิดเป็นประเด็นหลักแห่งการแนะนำว่า.. “การคิดเป็นพลังอันสูงส่งของมนุษย์ แม้ว่าเราจะไม่เคยพอใจกับทักษะที่สำคัญที่สุดของเราเลยก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะว่า ...ไม่ว่าเราจะคิดได้ดีเพียงใด เราก็มักจะต้องการให้มันดียิ่งขึ้นไปอีก..จะมีเพียงนักคิดที่น่าสงสารบางกลุ่มบางพวก ซึ่งมักจะเชื่อว่า..เป้าหมายของการคิดคือการพิสูจน์ว่า..ตนเองถูก หรือเพื่อสนองความพอใจของตนเองเท่านั้น..”
นั่นจึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า...อุปสรรคของการคิดที่สำคัญที่สุดก็คือ “ความสับสน” ..คนเรามักจะพยายามทำหลายสิ่งพร้อมๆกัน..ไม่ว่าจะเป็น เหตุผล ความหวัง และความคิดริเริ่ม..มันต่างปนเปอยู่ด้วยกัน..เปรียบดั่งการพยายาม “เล่นกลด้วยอุปกรณ์ลูกบอลหลายลูก จนเกินไป”
หนังสือนี้..ได้ระบุถึงเจตจำนง ที่จะช่วยให้ผู้ที่คิดสามารถทำสิ่งเดียวในเวลาหนึ่งๆ..ทั้ง “เขาหารือเธอ”จะสามารถแยกอารมณ์ความรู้สึกออกจากเหตุผล แยกความคิดริเริ่มออกจากข้อมูลความจริง..!
แนวคิดในท่วงทำนองนี้..คือแนวคิด “หมวกคิด 6 ใบ” (Six Thinking Hat)..ซึ่งการสวมหกมวกในแต่ละใบ..คือการหมายถึง..การคิดในแต่ละแบบ โดยหมวกคิดทั้งหมดนั้น..จะสามารถจัดการและนำทางความคิดของเราให้ดำเนินไป..เช่นเดียวกับวาทยกรที่นำวงออร์เคสตร้า ...เหตุนี้เราจึงสามารถเดินไปข้างหน้าได้ดังต้องการ..เช่นเดียวกับว่า..ในการคิดแต่ละครั้งนั้น ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนจากแบบเดิมๆที่เคยเป็นอยู่ ...เพื่อให้ได้คิดจัดการกับปัญหา โดยผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม.
“ความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับหมวกคิด 6 ใบนั้น..คือคุณค่าที่สำคัญที่สุดของแนวคิดดังกล่าวนี้..”
วิธีการของ “หมวกคิด 6 ใบ” นั้น..ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อให้คนเราได้สามารถเปลี่ยนวิธีคิดจากการโต้แย้งโดยปกติ มาเป็นแบบร่างแผนที่ซึ่งจะทำให้การคิด กลายเป็นกระบวนการ 2 ขั้นตอน..
ขั้นตอนแรก คือการวาดแผนที่ เเละขั้นตอนที่สอง คือการเลือกหนทางบนแผนที่ ดังนั้น..หากแผนที่ที่ร่างมาดีพอ เราก็สามารถที่จะเห็นเส้นทางที่ดีที่สุดได้อย่างชัดเจน..ส่วนการเลือกสวมหมวกคิดแต่ละใบจากทั้ง 6 ใบ..ก็เปรียบเสมือนการระบายสีลงบนแผนที่นั่นเอง
“เอ็ดเวิร์ด” ...ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่า “หมวกคิดทั้ง 6 ใบ..” สามารถจะครอบคลุมการคิดหลักๆได้ทั้งหมด ซึ่งขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ต้องการจะชี้แนะให้มีการสวมหมวกคิดแบบหนึ่งแบบใด..ในทุกๆครั้ง..ที่มีการคิดเกิดขึ้น..
ว่ากันว่า..หมวกคิดมีคุณค่าอย่างยิ่ง ตรงที่มันไม่ใช่ธรรมชาติในตัวเรา..และเป็นสิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมา ..หมวกคิดมีรูปแบบเป็นทางการ และทำให้สะดวกใจในอันที่จะขอร้องให้ใครคนใดคนหนึ่ง หรือคนอื่นๆสวมหมวกคิดแบบหนึ่งแบบใด อีกทั้งยังเป็นการสร้างกฎของเกมการคิด ซึ่งใครก็ตามที่เล่นเกมนี้จะต้องตระหนักถึงกฎดังกล่าว ...
“ยิ่งหมวกคิดถูกนำมาใช้มากเท่าใด หมวกนั้นก็ยิ่งเข้ามาเป็น ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการคิดมากเท่านั้น” การนำระบบ “หมวกคิด” มาใช้นั้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก..จนไม่จำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามจดจำถึงความแตกต่างของหมวกทั้ง 6 ใบ เนื่องเพราะความแตกต่างเหล่านี้จะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน..จึงสามารถที่จะจดจำสาระของหมวกแต่ละใบได้โดยง่าย..
“เป้าหมายของหมวกคิด 6 ใบ..คือการลดความยุ่งเหยิงของการคิด เพื่อผู้คิดจะสามารถมีวิธีแบบหนึ่งในชั่วขณะหนึ่งๆ แทนที่จะต้องพยายามทำทุกสิ่งพร้อมๆกัน..คำเปรียบเทียบที่เห็นชัดที่สุดก็คือสี โดยสีแต่ละสีจะเเตกต่างกัน..แต่ท้ายที่สุดแล้ว..
“ทุกสีจะรวมกันเป็นสีเดียว” หมวกสีขาว..หมายถึง ความขาวบริสุทธิ์ ข้อเท็จจริงแท้ๆ ตัวเลข และ ข้อมูลข่าวสาร
“เมื่อผ่านไประยะหนึ่ง บทบาทของหมวกสีขาว..จะกลายเป็นนิสัยรองของเรา ผู้คิดจะไม่พยายามแอบแทรกข้อความบางอย่างออกมาเพื่อจะได้เถียงชนะ แต่จะพัฒนาเป็นนักสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ปราศจากอคติ หรือเป็นนักสำรวจที่จดรายชื่อพืชและสัตว์ต่างๆกันไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยยังไม่ทราบว่าจะนำมาใช้งานอะไร “ภารกิจของผู้ร่างแผนที่ก็คือการวางแผนที่นั่นเอง”
เหตุนี้..นักคิดหมวกสีขาวจึงต้องวางรากฐานไว้บนโต๊ะ..เช่นเดียวกับ!!เด็กนักเรียนที่เทเหรียญ หมากฝรั่ง และ กบ ออกมาจนหมดกระเป๋า..! หมวกสีแดง...หมายถึง ความร้อนแรง อารมณ์ ความรู้สึก รวมไปถึง ญาณหยั่งรู้หมวกสีแดง ครอบคลุมความรูสึกกว้างๆสองแบบ แบบแรกคือ ความรู้สึกปกติที่เรารู้จักกันดี นับตั้งแต่ความรู้สึกอันแรงกล้า เช่น ความหวาดกลัว ความไม่ชอบ ไปจนถึงความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนกว่านี้น เช่น ความพะวงสงสัย
แบบที่สองคือ..การตัดสินสิ่งต่างๆอย่างซับซ้อน ซึ่งจะต้องอาศัย “ความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน” ไม่ว่าจะเป็น สัญชาตญาณ การหยั่งรู้ ความรู้สึกสำนึก รสนิยม ความรู้สึกสุนทรีย์ ฯลฯ ที่ยากจะระบุชัดลงไปได้..
“เมื่อความคิดใดก็ตามที่ความรู้สึกเหล่านี้รวมอยู่ด้วย..ความคิดเห็นนั้น ก็จะถือว่า ..อยู่ภายใต้หมวกสีแดง” หมวกสีดำ หมายถึงแรงหนุนของเจ้าตัวร้าย การวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ.. “เหตุใดสิ่งนั้นจึงใช้การไม่ได้”
หมวกคิดสีดำ จะชี้ข้อบกพร่องของกระบวนการคิดและวิธีคิดนั้นๆ/จะตัดสินความคิดของอดีตเพื่อดูว่า สิ่งต่างๆสอดคล้องกับสิ่งที่เคยรับรู้มามากน้อยเพียงใด/หมวกสีดำ..จะสร้างความคิดในอนาคต เพื่อดูว่าอะไรอาจจะล้มเหลว หรือใช้ไม่ได้../หมวกสีนี้..อาจจะขอ “คำถามเชิงลบ”
แต่ทว่า..การคิดแบบนี้ก็ไม่ควรจะกลายเป็นความหลงใหลติดยึดใน “ทรรศนะเชิงลบ” ตลอดไป..
หมวกสีเหลือง..หมายถึง ความสดใส สว่างไสว การมองโลกในแง่ดี ทัศนคติเชิงบวก การคิดสร้างสรรค์ และ โอกาสความเป็นไปได้..
หมวกคิดสีเหลือง...เป็นการคิดในเชิงก่อกำเนิดสิ่งใหม่ๆ กระทั่งกลายเป็นข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรม หมวกสีนี้จะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการและการทำให้สิ่งต่างๆอุบัติขึ้น “ประสิทธิผล คือการคิดสร้างสรรค์” หรือเป็นการคาดคะเน การมองหาโอกาส การมีภาพฝัน และความใฝ่ฝัน..
“หมวกสีเหลือง ครอบคลุมแง่มุมในเชิงบวก นับแต่แง่มุมเชิงตรรกะไปจนถึงในเชิงปฏิบัติ ซึ่งมีความฝัน ภาพลักษณ์ อยู่ ณ จุดหนึ่ง และ ความหวังอยู่อีกจุดหนึ่ง../หมวกสีนี้จะทำหน้าที่พิสูจน์และเสาะค้นคุณค่า รวมทั้งประโยชน์.. จากนั้นจึงหาเหตุผลสนับสนุนคุณค่า และประโยชน์ดังกล่าว”
หมวกสีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความคิดริเริ่ม ต้นไม้ที่งอกเงยขึ้นมาจากเมล็ดพันธุ์ ความเคลื่อนไหวและแรงท้าทายใหม่ๆ.. “การค้นหาทางเลือก” เป็นวิถีทางพื้นฐานของการคิดด้วย “หมวกสีเขียว” ..มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปให้ไกลกว่าสิ่งที่เคยรับรู้มา สิ่งที่แจ้งชัด หรือสิ่งที่เป็นที่พออกพอใจอยู่แล้ว..
“การหยุดเพื่อคิดริเริ่ม จะทำให้นักคิดหมวกสีเขียว..สามารถหยุด ณ จุดหนึ่งจุดใด โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ..ทั้งนี้เพื่อจะดูว่า..ที่ความคิดอื่นๆ ที่เป็นไปได้หรือไม่..?..”
หมวกสีฟ้า..หมายถึง เยือกเย็นและควบคุม เป็นดั่งผู้ควบคุมวงออร์เคสตร้า รวมทั้งเป็นการคิดเกี่ยวกับการคิด..นักคิดหมวกสีฟ้า จะมีกฎหนดทิศทางการคิดที่จักต้องดำเนินไป เป็นผู้กำหนดจุดสนใจ ระบุปัญหา และวางแนวคำถาม มันจะเป็นตัวกำหนดงานคิดที่ควรกระทำ
“..แม้ว่า บทบาทการคิดภายใต้หมวกสีฟ้า จะเป็นบทบาทเฉพาะ..ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ยังเปิดกว้างสำหรับใครก็ตามที่จะเสนอคำวิพากษ์วิจารณ์ และ ข้อเสนอแนะภายใต้หมวกใบนี้..”
นี่คือ..หนังสือที่ทรงคุณค่าต่อสำนึกคิด..ที่ไม่เคยล้าสมัย ..ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 31 ปีที่แล้ว.. “นุจรีย์ ชลคุป” แปลหนังสือเล่มนี้ออกมาอย่างงดงาม ทรงคุณค่า และเต็มไปด้วยรายละเอียด..ของการมองปัญหา มองชีวิต ด้วยวิธีคิดแบบใหม่..ดั่งเจตจำนงของเธอที่ว่า.. “เราไม่เคยตั้งคำถาม หรือ ให้ความสนใจในเรื่องวิธีการคิดอย่างจริงจัง..ขณะที่ “เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน” เป็นคนแรก ที่เสนอความคิดแปลกใหม่ที่น่าสนใจในเรื่องนี้.เขาคิดว่า..ประสิทธิภาพของการคิดของมนุุษย์นั้น..ด้อยกว่าศักยภาพที่มีอยู่จริงอยู่มากมายนัก..นั่นก็คือ เพราะเราไม่เคยแยกเรื่องหรือมุมการคิดที่แตกต่างออกจากกัน..เพื่อจะพิจารณาไปทีละเรื่องๆ”
โดยส่วนตัว..ผมถือว่าการได้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างละเอียด..ด้วยการพินิจพิเคราะห์คือกำไรของชีวิตที่ล้ำค่า..มันคือวิถีชีวิตแห่งการเข้าใจโลกแห่งตัวตน"อันสมบูรณ์และถ่องแท้..ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดของการตีความอันหลากหลาย เป็นประมวลความคิดที่ถือเป็นคุณประโยชน์อย่างแท้จริงและไม่เปลี่ยนแปร..!
“หมวกคิดมีคุณค่าอย่างยิ่ง ตรงที่มันไม่ใช่ธรรมชาติในตัวเรา และเป็นสิ่งที่ตัวเราพยายามสร้างขึ้นมา หมวกคิดมีรูปแบบเป็นทางการและทำให้สะดวกใจในอันที่จะขอร้องให้ใครคนใดคนหนึ่งหรือคนอื่นๆ สวมหมวกคิดแบบหนึ่งแบบใด ทั้งยังเป็นการสร้างกฏของเกมการคิด ...ซึ่งใครก็ตามที่เล่นเกมนี้ จะต้องตระหนักถึงกฎดังกล่าว..”